ี้กลุ่มตัวแทนคณะก้าวหน้า จ.พัทลุง นำโดย นายพา ผอมขำ นายไพฑูรย์ ทองสม นส.อลิสา บินดุส๊ะ ได้ร่วมเปิดเวทีเสวนาสุราก้าวหน้า ที่ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคใต้ ในพื้นที่ ต.ตำนาน อ.เมืองพัทลุง มีผู้เข้าร่วมเกือบ 20 คน โดยเนื้อหาสาระในที่ประชุมมีการพูดคุยกันเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาด และการผลักดันธุรกิจผลิตสุราได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย ซึ่งก็เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เคยมีการนำเสนอร่าง พรบ.สุราก้าวหน้า ต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2563 ที่ผ่านมาโดย ส.ส.คนหนึ่งของพรรคก้าวไกล หลังจากนั้นก็ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เรื่อยมา
ซึ่งร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ตัวนี้ได้มีประเด็นหลักอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ แก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ห้ามกำหนดเกณฑ์ กำหนดกำลังการผลิต จำนวนคนงาน เงินทุน ปลดล็อก มุ่งทลายเศรษฐกิจผูกขาด เปิดโอกาสชุมชนแข่งขัน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพราะพวกเขาถือว่าเป็นวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของคนแต่ก่อนที่มีต่อยอดมาเป็นสุราชุมชนในปัจจุบัน
นส.อลิสา บินดุส๊ะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง คณะก้าวหน้า กล่าวว่า โอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าสู่การสร้างผลิตภัณฑ์สุรานั้นต้องผ่านเงื่อนไขมากมายจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดรายย่อยที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของตัวเอง ไม่มีโอกาสทดลองทำสุราที่บ้านหรือลองลงทุนเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ดังนั้นจึงต้องมี
- การเพิ่มคำว่า “การค้า” เข้าไปในร่างกฎหมาย ก็เพื่อปลดล็อคการผลิตสุรา แต่เดิมการผลิตสุราทุกชนิดทุกประเภท จำเป็นจะต้องมีการขออนุญาตหมด แต่ต่อไปนี้ หากไม่ได้ผลิตสุราเพื่อการค้า ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตแล้ว หากเป็นการผลิตสุราตามประเพณีหรือเพื่อบริโภคเองก็จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
- กฎกระทรวงในอดีตเคยกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆไว้มากมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอย่างมาก เช่น เกณฑ์ขั้นต่ำในการผลิต เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีทุนที่จะจัดหาเครื่องจักรขนาดใหญ่ได้ หรือเกณฑ์ของสุราชุมชน ซึ่งเป็นใบอนุญาตประเภทหนึ่ง ก็มีการจำกัดแรงม้าโดยรวมไว้อีก ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาไม่สามารถคุมคุณภาพได้ดีเท่าที่ควร รวมทั้งยังมีการห้ามปรุงแต่งสุรา ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก เราไม่สามารถปรุงแต่ง สี กลิ่น และรสชาติให้กับสุราได้การที่เพิ่มกำหนดลงไปใน พ.ร.บ. ว่าห้ามมีการตั้งข้อกำหนดต่างๆจำพวกนี้ ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากเดิมได้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันสุราไทยเองก็มีหลายตัวที่ไปคว้ารางวัลจากการประกวดในต่างประเทศมาได้ แต่สุราพวกนี้ก็เหมือนกันหมดคือเป็นได้แค่สุราขาว ขาดความหลากหลาย ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ อยากย้ำเตือนว่า หากผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเชิงพาณิชย์ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเดิมที่มีอยู่แล้ว มีความเข้มข้นเหมือนเดิม ที่ต้องกวดขันเพราะว่าการผลิตสุราเพื่อจำหน่ายนั้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสุขภาพของประชาชน
และจากสถิติตัวเลขในประเทศขณะนี้ มีเหล้ากลั่นราว 2,000 โรง เหล้าแช่ 2,000 โรง และคราฟต์เบียร์ 70 ยี่ห้อ เราไม่ได้มองว่าเป็นแค่น้ำเมา แต่มองไปถึงความเป็นวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ สูญความลับทางการค้า รวมไปถึงด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านเภสัชวิทยา มาตรฐานคุณภาพ กระบวนการหมัก ต้ม กลั่น การจัดเก็บ เชื่อมโยงไปยังเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งพืชที่ได้ประโยชน์ ผลลัพธ์เศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษีควบคุม และภาษีก้าวหน้า.