ชาวนาบ้านท่ามะนาวโอดครวญ หลังเจอศัตรูข้าวระบาดพบข้าวในนาเสียหายเกือบทั้งหมด ด้านผู้ว่าฯลงพื้นที่ให้กำลังใจพร้อมหาแนวทางช่วยเหลือ


นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ม.5 บ้านนาสวน และพื้นที่ ม.7 บ้านท่ามะนาว ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อให้กำลังใจและรับฟังปัญหาความเดือดร้อน พร้อมหาทางแก้ปัญหาให้กับชาวนาในพื้นที่ ที่ประสบกับปัญหาศัตรูในนาข้าว หรือโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด จนชาวนาได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ทั้งที่ข้าวใกล้จะถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วด้วยซ้ำ


เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นศัตรูตัวร้ายที่ทำลายนาข้าว โดยมันจะดูดเอาน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว จนทำให้ต้นข้าวแห้งตาย และเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิกของต้นข้าวอีกด้วย ลักษณะของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตร สีน้ำตาล มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น ในพื้นที่ จ.พัทลุงพบเห็นไม่บ่อยนัก แต่ก็ถือเป็นวายร้ายประจำนาข้าว


นางบุญน้อม เนียมทอง อายุ 57 ปี เกษตรกรทำนาในพื้นที่ ม.7 บ้านท่ามะนาว ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เล่าว่า ตนได้เริ่มหว่านข้าวนาปีในรอบนี้มาเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว บนเนื้อที่ทั้งหมด 27 ไร่ ปลูกข้าวหอมปทุมและข้าวไรซ์เบอร์รี่ จนกระทั่งเมื่อต้นเดือน ม.ค.64 ที่ผ่านมา ตนสังเกตุเห็นข้าวในนาล้มระเนระนาด แต่เข้าใจว่าข้าวล้มเนื่องจากลมแรงบวกกับมีฝนตกลงมาตลอด หลังจากนั้นในวันที่ 8 ม.ค. ถึงทราบว่าข้าวในนาไม่ได้ล้มเพราะสภาพอากาศ แต่ล้มแห้งตายเพราะศัตรูข้าวระบาด หรือถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายไปถึง 20 ไร่ จากที่ปลูกทั้งหมด 27ไร่

ตัวเองถูกกับเข่าทรุด เพราะอีกไม่กี่วันข้าวในนาก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ส่วนสาเหตุที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานในรอบ 4 ถึง 5 ปี คาดว่าน่าจะเป็นเพราะสภาพอากาศ ที่มีฝนตกชุก ทำให้เกิดความชื้น
ทางด้าน นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ได้ลงพื้นที่นาไปดูความเสียหายในครั้งนี้ด้วย พร้อมเน้นย้ำถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาต่อไป

เบื้องต้นจะเร่งตรวจสอบว่าเกษตรกรชาวนาที่ได้รับผลกระทบได้ทำประกันข้าวไว้หรือไม่ ในส่วนที่ทำประกันไว้ทางธนาคารที่รับผิดชอบดูแลก็จะเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนชาวนาที่ไม่ได้ทำประกัน ทางจังหวัดก็ต้องหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง หามาตรการช่วยเหลือต่อไปตามความเหมาะสม และทางสำนักงานเกษตรกรจังหวัดพัทลุง ก็ได้แนะมาตรการ การแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ โดยการลองเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ใช้เพาะปลูกจากเดิมที่เป็นข้าวพันธุ์หอมปทุม ข้าวไรซ์เบอรรี่ และข้าวสังข์หยด เป็นพันธุ์ที่มีความต้านทานศัตรูนาข้าวอย่างข้าวพันธุ์ กข-43 และพันธุ์ข้าว กข-79 ทดแทน ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดหาพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรชาวนา หากสามารถสนับสนุนพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรได้เลยก็จะจัดหามาให้


นายกู้เกียรติ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือ และพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเกษตรกรชาวนาอย่างเต็มที่ต่อไป
สำหรับความเสียหายโดยรวมของจังหวัดพัทลุง จากการแพร่ระบาดของโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีเกษตรกรชาวนาที่ได้รับผลกระทบแล้ว 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 1,560 ไร่ อ.เมืองพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 50ไร่ และ อ.ป่าบอน พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 10 ไร่.