มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดโรงพยาบาลสนาม รอบที่ 2 หลังจากมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะกรรมการ และคณะทำงานหน่วยปฏิบัติการกระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรรม หรือ “หน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้า จ.พัทลุง” เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาพรวมของประเทศและในจังหวัดพัทลุงที่พบคลัสเตอร์การระบาดเพิ่มเติม

ทำให้โรงพยาพยาบาลหลักไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด ประกอบกับนโยบายในการคัดกรองและจำแนกผู้ป่วยออกเป็นระดับต่างๆ รวมถึงนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ประสานให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดโรงพยาบาลสนามทุกจังหวัดสนับสนุนการการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโดยให้ประสานงานหน่วยงานภาคีในจังหวัดนั้น ที่สำคัญมหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้ปณิธาน “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม”

ที่ตระหนักในความจำเป็นและบทบาททางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูสังคม ชุมชน การเผยแพร่ต่อยอดผลงานสู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคม การถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันโรค การผลิตเจล สเปรย์ โลชั่นแอลกอฮอล์สมุนไพร การรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพและการรับวัคซีนผ่านนวัตกรชุมชน การจัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รอบแรกระหว่างวันที่ 21 เมษายน-27 พฤษภาคม 2564


จากสถานการณ์และความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยทักษิณและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ภายใต้คณะกรรมการจัดเตรียมสถานที่รองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จึงเห็นชอบร่วมกันในการเปิดโรงพยาบาลสนาม ภายใต้ชื่อ “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” รองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 300 เตียง ณ สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ตั้งแต่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่อาจลุกลามขยายตัวมากขึ้น มหาวิทยาลัยทักษิณ จะร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานในพื้นที่ในระดับจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่น ในการรณรงค์ เผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันตนเอง การปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน/ หมู่บ้าน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่รอการส่งต่อยังโรงพยาบาล การสกัดกั้นการระบาดลุกลามของเชื้อโรคในระดับครัวเรือน/ชุมชน/ หมู่บ้าน อันเป็นการแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ การบรรเทาการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นต้น


นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ จะร่วมรณรงค์ส่งเสริมสนับสนุนการใช้สมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อป้องกันรักษาอาการเบื้องต้นของโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย ฯลฯ ซึ่งทางสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน จะร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านในจังหวัดพัทลุงดำเนินการจัดทำสมุนไพรต้านโควิด-19เพื่อให้กับประชาชนเข้าถึงได้ในราคาถูก เร็วๆนี้


ด้านแพทย์หญิงอภิญญา เพชรศรี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองผู้อำนวยการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด -19 ล่าสุดในจังหวัดพัทลุงเมื่อวานนี้ (20 กรกฎาคม 64) เพิ่มขึ้น 145 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,016 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย ด้วยจำนวนตัวเลขที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานผลิตเนื้อไก่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงที่กระจายในทุกอำเภอของจังหวัดพัทลุง ขณะนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกหลายราย อยู่ขั้นตอนการกักตัวตามนโยบาย


จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันกรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว โดยโรงพยาบาลทุกอำเภอของจังหวัดพัทลุง มีผู้ป่วยโควิดกำลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอำเภอ รวม 439 ราย ได้แก่โรงพยาบาลพัทลุง 110 ราย โรงพยาบาลกงหรา 83 ราย โรงพยาบาลเขาชัยสน 48 ราย โรงพยาบาลตะโหมด 29 ราย โรงพยาบาลควนขนุน 28 ราย โรงพยาบาลบางแก้ว 22 ราย โรงพยาบาลป่าบอน 16 ราย โรงพยาบาลปากพะยูน 12 ราย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 11 ราย โรงพยาบาลศรีบรรพต 8 ราย และโรงพยาบาลป่าพะยอม 1 ราย ตอนนี้มีผู้ป่วยที่รับมาจากกรุงเทพและปริมณฑลแล้ว จำนวน 69 ราย หายกลับบ้านแล้ว 15 ราย ในส่วนของโรงพยาบาลสนาม “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว จำนวน 71 ราย หญิง 43 ราย ชาย 28 ราย ส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ มีบุคลากรทางการแพทย์ คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง


การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดพัทลุง ได้ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดพัทลุง ทั้งหมด 297,474 ราย คิดเป็น 70% ของประชากรในจังหวัดพัทลุง โดยแบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์แล้ว 3,432 ราย อสม. 7,700 ราย ผู้สูงอายุ 97,921 ราย กลุ่มโรคเรื้อรัง 38,985 ราย ประชาชนอายุ 18-60 ปีขึ้นไป 121475 ราย ประชาชนอายุ 12-18 ปี 27,475 ราย บุคลากรด่านหน้า 396 ราย ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และประชาชนอายุ18-60 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก แล้วจำนวน 41,102 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.82 เข็มที่สอง จำนวน 14,077 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.73 มีผู้จองวัคซีนจำนวน 135,417 ราย


อนึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนกิจกรรมในโรงพยาบาลสนาม โดยร่วมบริจาคสิ่งของที่จำเป็นในการชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร น้ำ ผลไม้ เครื่องดื่ม ฯลฯ ได้ที่โรงพยาบาลสนาม “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” หรือทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. 096 389 8943