๏ อัตโนประวัติ
ปัญ จะธาตุใช่ยิ่ง ยืนยง
ญา ณะธรรมคุณ อยู่คง จิตด้วย
นัน อเนกแผ่ไพ-ศาลนา
ทะ เลทั่วผืนฟ้า จดสิ้น ดินแดน
“พระพรหมมังคลาจารย์” หรือที่ชาวพุทธรู้จักกันดีทั่วไปในนามของ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” มีนามเดิมว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน (ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
ณ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง มีชื่อเล่นว่า ขาว แต่โยมมารดาเรียกว่า หมา โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายวัน และนางคล้าย เสน่ห์เจริญ (จุลบุษรา) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตคนที่ ๔ กล่าวคือ มีพี่สาว ๒ คนชื่อ ขำ อนุวงศ์ และดำ บุญวิสูตร (เสียชีวิตทั้งคู่) พี่ชาย ๑ คนชื่อ พ่วง (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก) และน้องสาว ๑ คนชื่อ หนูกลิ่น กฤตรัชตนันท์
ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ เลี้ยงวัวควาย ฐานะพอกินพอใช้ไม่ถึงกับร่ำรวย
วัยเด็ก พ.ศ.๒๔๖๒ เข้าศึกษาชั้น ป.๑ เมื่ออายุย่างเข้า ๘ ขวบ ที่โรงเรียนประจำอำเภอเมือง จ.พัทลุง โรงเรียนนี้มีครูใหญ่ชื่อเลี่ยง เวชรังษี และมีครูดำ ม่องกี้, ครูเปลื้อง กาญจโนภาส, ครูฉัตร โสภณ เป็นครูสอน เรียนจบชั้น ป.๓
ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในการศึกษาสมัยนั้นแล้วย้ายไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งนักเรียนเป็นชายล้วน (สมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ หลังโรงเรียนเปิดภาคเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม มีครูโชติ เหมรักษ์ ต่อมาเป็นขุนวิจารณ์จรรยา เป็นครูใหญ่
เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลบ้าน จึงอาศัยวัดยางซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนเป็นที่พักจนจบ ม.๓ ขณะเรียน ม.๔ ต่อได้ครึ่งปี บิดาป่วยจึงต้องลาออกมาช่วยเหลือครอบครัว
พ.ศ.๒๔๗๐ ขณะอายุ ๑๖ ปี ได้ติดตาม “หลวงลุง” พระอาจารย์พุ่ม ธมฺมทินฺโน วัดคูหาสวรรค์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง ไปยังรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย แล้วต่อมากลับมาทำงานเหมืองแร่และสวนยาง ที่ จ.ภูเก็ต ได้ค่าจ้างวันละ ๙๐ สตางค์
๏ การศึกษาหาหลักธรรม
พ.ศ.๒๔๗๒ อายุ ๑๘ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดอุปนันทาราม ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๒ โดยมีพระรนังควินัยมุนีวงศ์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพิพัฒน์สมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ต่อมา ท่านได้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประชาบาล เงินเดือนๆ ละ ๒๕ บาท และเรียนนักธรรมไปพร้อมกันโดยสอบนักธรรมตรีได้ที่ ๑ ทั้งมณฑลภูเก็ต จนพระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ (ทนง บุนนาค) เจ้าเมืองภูเก็ตขณะนั้น ถวายรางวัลผ้าไตร ๑ ไตร นาฬิกา ๑ เรือน หัวข้อกระทู้ธรรมในการสอบครั้งนั้นคือ “น สิยา โลกวฑฺฒโน – ไม่พึงเป็นคนรกโลก”
พ.ศ.๒๔๗๔ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนางลาด ต.เขาเจียก อ.เมือง จ.พัทลุง เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยมีพระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาพลัด วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูเคว็จ วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ปทุมุตฺตโร” แปลว่า “ดอกบัวประเสริฐ หรือผู้ประเสริฐดุจดอกบัว”
พ.ศ.๒๔๗๕ เทศน์ครั้งแรกที่วัดปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในวันพระวันหนึ่ง บังเอิญเจ้าอาวาสไม่อยู่ ชาวบ้านมาทำบุญและอยากฟังเทศน์ตามปกติ จึงนิมนต์พระปั่นขึ้นธรรมาสน์ เพราะเห็นว่ามีความรู้ขั้นนักธรรมเอก แล้วท่านก็สร้างความอัศจรรย์แก่ชาวบ้านบนศาลาวัด เมื่อแสดงธรรมเทศนาได้อย่างคล่องแคล่ว โดยไม่อาศัยหนังสือใบลานเลยแม้แต่น้อย นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตพระนักเทศน์ขึ้นครั้งแรก ณ วัดแห่งนี้
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ “พระโลกนาถ” พระภิกษุชาวอิตาเลียนผู้โด่งดัง มีแนวคิดจะเดินธุดงค์จากเมืองไทยผ่านพม่า อินเดีย และประเทศต่างๆ แถบยุโรปจนถึงประเทศอิตาลีบ้านเกิด เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกาศชักชวนพระสงฆ์สามเณรไทยเข้าร่วมเดินธุดงค์ พระปั่นมีความสนใจจึงชักชวนพระสงฆ์สามเณรอีก ๘ รูป (พระบุญชวน เขมาภิรัต ร่วมเดินธุดงค์ไปด้วย สามเณรมีรูปเดียวคือ สามเณรกรุณา กุศลาสัย)
จากจังหวัดนครศรีธรรมราช และ พัทลุงไปสมทบ ท่านพุทธทาสก็ถูกพระโลกนาถ ชักชวนด้วย แต่ท่านปฏิเสธ มาบอกความในใจภายหลังว่า “ไม่เลื่อมใส เพราะพระฝรั่งรูปนี้ตั้งชื่อเหมือนพระพุทธเจ้า (นามโลกนาถ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า)” เรียกคณะธรรมทูตชุดนี้ว่า “พระภิกษุใจสิงห์”
ในบรรดาคณะธรรมทูต “พระภิกษุใจสิงห์” มีพระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต เพียงรูปเดียวเท่านั้นที่สามารถสื่อสารกับ “พระโลกนาถ” ได้ เพราะท่านสามารถพูดเขียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ ซึ่งพระปั่น ปทุมุตฺตโร (ปัญญานันทะ)
ได้เอ่ยถามวันหนึ่งว่า ไปเรียนภาษาเหล่านี้มาจากไหน ท่านตอบสั้นๆ ว่า “เรียนเอง”
ขณะคณะสงฆ์ ๙ รูป เดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช มีญาติโยมติดตามไปส่งมากมายนับพันคน และที่นี่ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ฮือฮาอีกหน้าหนึ่ง เมื่อพระปั่นแสดงปาฐกถาธรรมด้วยการยืนเทศน์บนม้านั่ง หน้าไมโครโฟน
หลังสถานีรถไฟ กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ยืนเทศน์ของวงการสงฆ์เมืองไทย ซึ่งต่อมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากวงการสงฆ์ว่า ไม่เหมาะสม ไม่สำรวม บ้างก็ว่าไม่ได้เทศน์ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้อ่านจากใบลาน แต่เรื่องนี้ก็ได้รับการยอมรับในเวลาต่อๆ มา
แต่การเดินทางจาริกแสวงบุญครั้งนี้ก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าแล้ว สุดท้ายพระปั่นจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย (คงมีแต่สามเณรกรุณา กุศลาสัย ติดสอยห้อยตามพระโลกนารถไปผจญภัยในภารตประเทศ) โดยท่านล่องใต้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอุทัย อ.เมือง จ.สงขลา และสร้างตำนานการบรรยายธรรมนอกใบลาน ทันยุคสมัย จนเกิดการบอกเล่ากันปากต่อปาก ทำให้มีกิจนิมนต์ไปบรรยายธรรมอยู่มิได้ว่างเว้น
พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๖ ศึกษาภาษาบาลี ณ วัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค แล้วเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) จึงไม่ได้เรียนต่อ แล้วหันมาสนใจเทศน์สอนธรรมแก่ประชาชนในเวลาต่อมา
ท่านพุทธทาสภิกขุ
๏ สหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ
พ.ศ.๒๔๘๐ ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต (พระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร) เป็น “สามสหายธรรม” ร่วมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และหลักธรรมที่แท้จริงตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี ท่านพุทธทาสและท่าน บ.ช.เขมาภิรัต ได้ชี้แนะให้ท่านเรียน “เปรียญธรรม” เพื่อให้สามารถค้นคว้าเรียนรู้และเข้าใจพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ทำให้ท่านต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาในระดับที่สูงขึ้น จนกระทั่งสอบได้ศึกษาบาลีที่วัดสามพระยานั่นเอง
พระปั่น ปทุมุตฺตโร (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) พ.ศ.๒๔๘๑
๏ ประกาศธรรมแก่ชาวบ้านที่เชียงใหม่
เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๒ ไปจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการปาฐกถาธรรม โดยสร้างโรงมุงใบตองขึ้นในที่ของชาวบ้านซึ่งเรียกว่าศาลาธรรมทาน (พุทธสถานเชียงใหม่ในปัจจุบัน) เทศน์ทุกวันอาทิตย์ ส่วนวันพระออกเทศน์ตามหมู่บ้านโดยรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง ในระหว่างนี้ หลวงพ่อได้ไปปักหลักแสดงปาฐกถาธรรมแข่งกับโรงหนัง แรกๆ ก็มีผู้มายืนฟังสี่ห้าคน แล้วก็เพิ่มขึ้นๆ เป็นร้อย จนกระทั่ง “โรงหนังแทบต้องปิด” เพราะคนมาฟังพระเทศน์หมด พร้อมทั้งได้เขียนเรื่องลงในหนังสือพิมพ์ชาวเหนือ โดยใช้ฉายาและนามปากกาว่า “ปัญญานันทะ” ซึ่งความจริงแล้วนามปากกา “ปัญญานันทะ” ก็ไม่ไกลจากความหมายของนามเดิม (ปทุมุตฺตโร) แต่อย่างใด เรียกว่าเป็นแก่นหรือสาระของนามเดิมนั้นเอง เพราะพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเจริญงอกงามด้วยปัญญา เป็นดอกบัวบานที่ไม่ยอมหุบ ชูช่อชูก้านไสวตลอดกาล
จนกระทั่งท่านมีชื่อเสียงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม “ภิกขุปัญญานันทะ” ผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ เจ้าชื่น สิโรรส ทั้งนี้ ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลานานถึง ๑๐ พรรษา (พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๒)
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิ “ชาวพุทธมูลนิธิ” วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิ “เมตตาศึกษา” ที่วัดเจดีย์หลวง ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย
๏ วัดชลประทานรังสฤษฎ์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน (ในสมัยนั้น) ระหว่างที่ไปเยือนจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากได้ฟังการแสดงธรรมของหลวงพ่อ เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก็ได้เกิดความเลื่อมใสในวิธีการสอนธรรมะแนวใหม่ของท่าน จากเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรม แบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นอย่างมาก
และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และความประทับใจในลีลาวิธีการถ่ายทอดธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ ม.ล.ชูชาติ กำภู ซึ่งเกิดความศรัทธาปสาทะในหลวงพ่อ และกรมชลประทาน จึงได้มอบที่ดินและสร้างวัดใหม่ขึ้นมา ชื่อ “วัดชลประทานรังสฤษฎ์” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ณ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมทั้งได้อาราธนาหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ มาเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้นมา
ต่อมาท่านเริ่มปฏิรูปและปรับประยุกต์พิธีกรรมประเพณีทางศาสนา ให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสติปัญญาตามหลักการ “เป็นระเบียบ เรียบง่าย ประหยัด ให้สมกับเหตุการณ์ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง” วัดชลประทานรังสฤษฎ์จึงเป็นวัดที่ปราศจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เครื่องรางของขลัง การบอกใบ้หวย การเข้าทรงองค์เจ้า แต่วัดแห่งนี้มุ่งเน้นในเรื่องของหลักธรรมคำสอนและการปฏิบัติตามแก่นธรรม แห่งพระพุทธศาสนา เพื่อขัดเกลาจิตใจของผู้คนให้หลุดพ้นจากกิเลสที่พอกพูน โดยมี “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ทำหน้าที่เป็นนักรบแห่งกองทัพธรรม ขับเคลื่อนหลักธรรมคำสอนเผยแพร่สู่สาธารณชนมาโดยลำดับ
รวมทั้ง ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มการแสดงปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ โดยได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบน ธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อเป็นพระแท้ พระที่ยืนหยัดอยู่กับจุดยืนของพระพุทธเจ้า เทิดทูนพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะที่พึ่งแท้จริง ไม่ไขว้เขว และก็พร่ำสอนประชาชนให้ยืนอยู่จุดนี้ ปาฐกถาส่วนมากของท่านจะชี้ให้ทำลายความโง่ งมงาย ยึดติดในที่พึ่งภายนอก เช่น เครื่องรางของขลัง ไม่ว่าเหรียญพระเหรียญเทพ ที่คนบ้ากันหัวปักหัวปำอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ตลอด ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ท่านถือว่าหน้าที่ของพระคือ “ชี้ทางสวรรค์ให้ชาวบ้าน” ทางสวรรค์ก็คือ แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อยู่ในศีลในธรรม ไม่งมงายในสิ่งไร้สาระ
นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของ โลกเป็นประจำอีกด้วย
โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างผลงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและ สังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาลกรมชลประทาน ๘๐ ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี เป็นต้น
หลวงพ่อท่านมีความปราดเปรื่องในการเทศนาธรรม บรรยายธรรม โดยท่านจะใช้คำพูดแบบเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่อ้างคำบาลีมากมายจนเข้าใจยากและฟังไม่รู้เรื่อง ท่านเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ อธิบายหลักธรรมให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างง่ายๆ เป็นพระที่ต่อต้านการนำศาสนามาหากิน หลอกลวงชวนเชื่อให้งมงาย ทุกครั้งที่แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ จะมีประชาชนเข้าฟังเป็นจำนวนมาก วิธีการของท่านคือ จะไปบรรยายธรรมตามหอประชุมต่างๆ ตามคำเชิญ เช่น ศาลาปฏิบัติธรรม สถานที่ราชการ โรงเรียน และสถานศึกษาต่างๆ เป็นต้น แทนการให้มานั่งฟังกันที่วัด ตามรูปแบบเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา
แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังแล้วง่ายต่อการเข้าใจ แต่ก็ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเป็นหนึ่งในบรรดาพระภิกษุผู้มีชื่อเสียง เปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์สอนให้เหมาะสมสำหรับชาวพุทธทุกชนชั้น ง่ายต่อการที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทย ที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์ และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย” ในปัจจุบัน
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ-ท่านพุทธทาสภิกขุ
๏ พระปัญญานันทภิกขุ…ภิกษุสี่แผ่นดิน
แม้วันนี้ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” หรือ “พระพรหมมังคลาจารย์” จะมีอายุมากถึง ๙๖ ปีแล้ว แต่ทุกวันของท่านยังคงดำเนินไปเพื่อกิจแห่งพระพุทธศาสนา ด้วยดำรงวัตรปฏิบัติอย่างเรียบง่าย ทั้งการเทศน์สั่งสอนประชาชนจนถึงการชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ โดยทุกๆ เช้าวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ การแสดงปาฐกถาธรรมโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้ดำเนินมากว่า ๕๐ ปี จนเรียกได้ว่าเป็นประเพณีหนึ่งของพุทธศาสนิกชน
หลวงพ่อได้เล่าให้ญาติโยมอย่างติดตลกว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัล “พระแก่” ให้หลวงพ่อ เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนความดีในฐานะที่ “แก่แล้วแต่ยังไม่หยุดทำงาน”
ภาพหลวงพ่อนั่งบนรถเข็นไปตามทางเดินในวัด พร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มของบรรดาศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งเด็กและ ผู้ใหญ่ต่างนั่งลงกราบไหว้ตามทางที่หลวงพ่อไป หลวงพ่อจะยกมือทักทาย จับศีรษะเด็กๆ ที่มากราบไหว้ข้างๆ รถเข็นด้วยความเมตตา
หลายคนอาจไม่ทราบว่าหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมี “พี่น้องร่วมสาบาน” ใน “ยุทธจักรแห่งธรรมะ” ที่นำทัพต่อสู้กับ “ฝ่ายอธรรม” หรือ “กิเลส” ซึ่งอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ กล่าวคือ ท่านปัญญานันทภิกขุ เป็นท่านน้องเล็ก พระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต (พระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร) เป็นท่านพี่รอง และ ท่านพุทธทาสภิกขุ คือท่านพี่ใหญ่ อุดมการณ์เพื่อศาสนาของหลวงพ่อจึงไม่แตกต่างจาก “ปราชญ์แห่งแผ่นดิน” อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ
พระบุญชวน เขมาภิรัต ชาวพุทธทั่วไปไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไหร่นัก ท่านเป็นกวีที่แท้จริงที่มหัศจรรย์ยิ่ง เหมาะสมกับสมณศักดิ์ล่าสุดว่า “พระราชญาณกวี” งานเขียนบทกลอนสอนธรรมของท่านได้ลงตีพิมพ์ติดต่อกันในหนังสือ “พุทธจักร” รวมทั้ง งานเขียนแปลบทกวีภาษาอังกฤษเป็นบทกวีไทย ที่มีความไพเราะลึกซึ้งมาก โดยใช้นามปากกาว่า “บ.ช.เขมาภิรัต”
หลวงพ่อพูดถึงหลวงพ่อบุญชวน ว่า “พี่ท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน จะทำอะไรต้องให้สำเร็จในบัดเดียวนั้น บางทีค้นคว้าหนังสือเพื่อหาคำตอบบางเรื่อง ก็หมกมุ่นอยู่นั่นแล้ว ไม่ยอมวาง ขยันเกินเหตุ ครั้งหนึ่งมีผู้เอาหนังสือแปลวิชาการภาษาต่างประเทศมาให้ท่านตรวจ ท่านอ่านแล้วขัดใจ ลงทุนแปลให้ใหม่เลย คร่ำเคร่งไม่หลับไม่นอนจนกระทั่งเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษากัน ค่อยยังชั่วแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นเหมือนเดิม จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ พี่ท่านมรณภาพเพราะซีเรียสเกินไป แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นบุคลิกของแต่ละคน”
ทั้งนี้ ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๑
“สามสหายธรรม” ท่านพุทธทาสภิกขุ-ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต-ท่านปัญญานันทภิกขุ
“ข้าพเจ้าขอถวายชีวิตจิตใจนี้ แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอมอบกายใจแด่พระพุทธศาสนา จะทำงานให้แก่พระศาสนาจนตลอดชีวิต” หลวงพ่อได้กล่าวคำอธิษฐานต่อหน้าพระบรมธาตุกลางเมืองนครศรีธรรมราช ภายหลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ไม่ถึงพรรษา ระหว่างนั้นได้มีโอกาสเทศน์เป็นครั้งแรกด้วยความบังเอิญ จึงเริ่มฝึกการเทศน์จนเริ่มมีชื่อเสียง
วันหนึ่ง หลวงพ่อได้ออกเดินทางไปพร้อมกับหลวงพ่อบุญชวน เพื่อกลับไปเยี่ยมท่านพุทธทาส หลังจากวันนั้นทั้งสามเกิด “อุดมการณ์” อันมั่นคงแน่วแน่ที่ตรงกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการศึกษาค้นคว้า “แนวทางใหม่” ให้แก่พระพุทธศาสนา
แต่เดิม หลวงพ่อตั้งใจไว้ว่าจะไม่เป็นสมภารที่วัดใด นอกเสียจากว่าเป็นวัดใหม่หรือวัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์ เพราะหากมีพระประจำวัดอยู่แล้ว จะทำการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ได้ลำบาก กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน (ในสมัยนั้น) ได้นิมนต์หลวงพ่อปัญญาฯ ลงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่
ในสมัยนั้น การเดินทางมาวัดนี้ค่อนข้างลำบากเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ ทว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลวงพ่อที่ต้องการสร้างรากฐาน พัฒนา และบุกเบิกการเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง หลวงพ่อจึงเริ่มงานจากการ “ปฏิรูปทางจิตใจ” ไม่เน้นการสร้างพุทธสถานโอ่อ่าอลังการ มีการแก้ไขพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง เช่น พิธีบวชที่เน้นความเรียบง่าย โดยผู้ที่มีความประสงค์จะบวชจะต้องผ่านการทดสอบโดยการสวดมนต์เช้า-เย็น ส่วนพิธีงานศพ ไม่อนุญาตให้มีการเล่นพนัน กินเหล้าในงาน งดเว้นการสวดบาลี เพราะเห็นว่าสวดไปคนก็ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านจึงเปลี่ยนเป็นการเทศน์เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แทน
จวบจนถึงปัจจุบัน ภาพอันน่าปลาบปลื้มปีติได้เกิดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ณ ลานหินโค้ง (ลานไผ่) แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์แห่งนี้ ซึ่งจะเต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนจำนวนหลักร้อยหลักพัน ไม่ใช่เหตุเพราะมีงานปลุกเสกหรือแจกเครื่องรางของขลัง หากแต่เป็นเพราะพุทธานุภาพของหลวงพ่อที่ได้เทศน์สั่งสอนผู้คนมาหลายยุคหลาย สมัย จนทำให้ที่นี่คลาคล่ำไปด้วยประชาชน ทั้งคนหนุ่มสาว ครอบครัว และคนชรา ที่ต่างมาร่วมกันมาทำบุญตักบาตร เลี้ยงเพลพระ ไม่ต้องไปให้ใครเสกวัตถุมงคลให้ มานี่ มาที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์นี่ จะ “เสกความดี” ใส่ตัวให้
ด้วยความที่หลวงพ่อเป็น “พระนักพัฒนา” ในวันนี้ วัดชลประทานรังสฤษฎ์จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ หากแต่ยังประโยชน์สำหรับฆราวาสเพื่อศึกษาพระธรรมและทำกิจกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนไทย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ)
๏ งานด้านการปกครอง
พ.ศ.๒๕๐๓-พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด
อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทั้งนี้ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในสมัยนั้น)
เป็นประธานอ่านพระราชกฤษฎีกายุบวัดโบสถ์และวัดเชิงท่า
แล้วย้ายมารวมกันที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม
จนฺทสิริ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวิสุทธาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม
แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี (ในสมัยนั้น)
เป็นประธานทำพิธีเปิดวัดชลประทานรังสฤษฎ์
พร้อมอัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานบนแท่นในพระอุโบสถ
และมอบใบแต่งตั้งพระปัญญานันทมุนี จากวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓
พ.ศ.๒๕๐๖ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
(อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพฯ ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
และได้อุปสมบทหม่อมหลวงชอบ อิศรศักดิ์ อายุ ๖๖ ปี เป็นคนแรก เมื่อวันที่ ๖
พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๖
– เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๙ (ตรัง กระปี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา พัทลุง นราธิวาส สตูล ปัตตานี และยะลา)
พ.ศ.๒๕๑๗ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
(วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ทรงแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๘ (สงขลา พัทลุง นราธิวาส สตูล ปัตตานี
และยะลา) เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗
โดยในขณะนั้นมีพระธรรมปัญญาบดี (เพียร อุตฺตโม) วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง
เป็นเจ้าคณะภาค ๑๘
พ.ศ.๒๕๑๘ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
(วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทสามัญ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๕๑๘
พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นประธานอำนวยการก่อตั้งศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔
– เป็นประธานมูลนิธิภิกขุปัญญานันทะ
– เป็นประธานมูลนิธิวัดชลประทานรังสฤษฎ์ (ที่ระลึก ๘๐ ปี ปัญญานันทะ)
พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นประธานมูลนิธิท่านพุทธทาส
– เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม เมืองฮินสเดล รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.๒๕๔๐ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ
สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะภาค ๑๘ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พ.ศ.๒๕๔๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ
สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
ทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๘ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๔๒
๏ งานด้านการศึกษา
พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลี วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ระดับอนุบาล
ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๒
สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๒ เริ่มเปิดสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชน
โดยอาศัยสถานที่ของโรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๗
เมื่ออาคารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สร้างแล้วเสร็จ
จึงย้ายมาเรียนมาสอนกันภายในวัดชลประทานรังสฤษฎ์
พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฎ์
– เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทานรังสฤษฎ์
๏ งานด้านการเผยแผ่
พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๒ เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
– เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์
– เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน
พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ ๑๖/๒๕๑๘, รุ่นที่ ๑๗/๒๕๑๙ จากกระทรวงยุติธรรม
พ.ศ.๒๕๒๑ เริ่มแสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน เวลา ๘.๐๐-๘.๓๐ น.
ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งถ่ายทอดเสียงทั่วประเทศ
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นต้นมา
พ.ศ.๒๕๒๔ ริเริ่มบวชพระนวกะประจำเดือนในวัดชลประทานรังสฤษฎ์
– ริเริ่มโครงการพระธรรมทายาท อบรมพระภิกษุให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมะที่ดี
พ.ศ.๒๕๒๕ ริเริ่มโครงการส่งหนังสือธรรมะเป็น ส.ค.ส. ปีใหม่
พ.ศ.๒๕๒๙ ไปร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเซียนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ ๗ ณ ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว
พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นผู้ริเริ่มจัดค่ายคุณธรรมแก่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ฯลฯ
พ.ศ.๒๕๔๙ แสดงปาฐกถาธรรมในงานประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ ๓
เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ
ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
ท่านถือเป็นหนึ่งในผู้มอบกายถวายชีวิตให้กับพระพุทธศาสนาอย่างมิรู้จักเหน็ด
เหนื่อย มุ่งหน้าทำงานสั่งสอนประชาชน ทั้งนี้
ท่านได้ประกาศนโยบายประกาศธรรม ไว้ ๒ ข้อ ความว่า
“ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้ารักและบูชาพุทธธรรมมาก
เพราะซาบซึ้งในรสสัจธรรมเป็นอย่างดีว่า
พระธรรมให้ผลแก่ชีวิตของข้าพเจ้าอย่างไร
จึงขอพูดถึงนโยบายในการประกาศธรรมว่า
ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายในการทำงานเพื่ออะไร
ท่านจักไม่ต้องสงสัยกันต่อไปอีกว่า ข้าพเจ้าเป็นพระประเภทใด
ข้าพเจ้ามีนโยบายแน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
แม้เหตุการณ์ของประเทศชาติจะผันผวนไปอย่างใด ใครจะมาครองเมืองก็ตามที
ข้าพเจ้าจะทำตามนโยบายของข้าพเจ้าเสมอ ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนใจของข้าพเจ้า
จากความเชื่อและการกระทำ ข้าพเจ้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะพูดหรือกระทำอันผิดๆ
ความประสงค์ของพระพุทธองค์
ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตเป็นธรรมพลีแล้ว
ความมุ่งหมายของข้าพเจ้า จึงอยู่ในกฎเกณฑ์ ๒ ประการ คือ
(๑) เพื่อประกาศความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้
(๒) เพื่อทำลายความเห็นผิด และการกระทำผิดๆ ในหมู่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายให้หมดไป ตามพุทธธรรมที่พระบรมศาสดาแสดงไว้”
จริงอยู่พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศแล้ว แม้จะสรุปให้กะทัดรัดสั้นสุด
ว่ามี ๒ ประการ คือ (๑) ความทุกข์ และ (๒) การดับทุกข์ เท่านั้น
แต่เอาเข้าจริงแล้วมิใช่เรื่องเล็กเลย
เพราะการจะชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่านี่คือความทุกข์ไม่ใช่ของง่าย
แม้ว่าเขาคนนั้นกำลังอยู่ในวังวนของความทุกข์ เขายังไม่รู้ว่าตนกำลังทุกข์
เขายังคิดว่าเป็นสุขเสียอีก ไม่ต่างกับหนอนอ้วน ดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมอาจม
เทวดามาชวนไปอยู่สวรรค์ ก็ไม่ยอมไป
เพราะรู้ว่าบนสวรรค์นั้นต้องเนรมิตเอาอาหารหรือสิ่งที่ต้องการจึงจะได้
เหนื่อยเปล่าๆ สู้อยู่ที่หลุมคูนี่ดีกว่า ไม่ต้องเสียกำลังเนรมิต
ถึงเวลาพระคุณเจ้าก็จะมาเนรมิตให้เอง
ยิ่งภารกิจทำลายความโง่งมงายของคนยิ่งต้องออกแรงมาก
หลวงพ่อต้องต่อสู้กับความโง่งมงาย หรือความยึดติดของผู้คน
เช่นปาฐกถาธรรมตอนหนึ่งความว่า “เทวดา (พระภูมิ) เป็นเทวดาชั้นต่ำ
แค่บ้านอยู่ยังไม่มีปัญญาสร้าง ต้องให้คนเมตตาสร้างให้ สร้างบ้านให้เขาแล้ว
เขาควรมากราบไหว้คนสร้างให้ นี่อะไร คนยังมานั่งไหว้เขาปลกๆ
ดูแล้วมันน่าหัวเราะ…”
ต่อไปนี้คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา
ซึ่งท่านได้ให้คติธรรมโดยเฉพาะเรื่อง “สติ” ไว้เตือนใจสาธุชนเป็นอย่างดี
หลวงพ่อท่านกระตุ้นมโนธรรมสำนึกได้วิเศษนัก ความดังนี้
“ในโลกนี้มีเรื่องทุกแห่ง เขาแย่งกันเป็นใหญ่เพื่ออะไร
เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะมีจะได้ มีตัณหา โลภะเข้าครอบงำจิตใจ
ไม่รู้จักบังคับตัวเอง โลกพัฒนามาหลายพันปีแล้ว
แต่ว่ายังไม่เข้าถึงธรรมะในศาสนานั้นๆ ถือศาสนาไม่ถึงเนื้อแท้ของพระศาสนา
ชาวพุทธในเมืองไทย เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท แปลว่าผู้แวดล้อมพระพุทธเจ้า
แต่แวดล้อมเฉยๆ ไม่เคยเอาธรรมะมาปฏิบัติ ในโบสถ์ในวิหาร
ควรจะเป็นสถานที่สงบ ให้ทุกคนมานั่งสงบจิตสงบใจ
น้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรมอันเป็นคำสอน
นึกถึงพระสงฆ์ผู้สืบพระศาสนา แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เข้าไปในโบสถ์
ก็ไปขอร้องวิงวอนด้วยประการต่างๆ จะเอานั่น เอานี่ ไปขอพระพุทธรูป
พระพุทธรูปเขาไม่ได้สร้างให้คนไปไหว้ไปขออย่างนั้น
สร้างเพื่อจูงใจให้เรานึกถึงพระคุณของพระองค์ แต่ส่วนมากไม่เอาพระคุณมาใช้
แต่ไปวิงวอนขอร้องบนบาน
ถ้าเราเข้าไปในโบสถ์ ต้องไปนั่งสงบใจ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์
ระลึกถึงความกรุณา นึกถึงปัญญา นึกถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า
นั่งคิดนั่งนึกให้เห็นว่า พระองค์มีความกรุณาปรานีต่อสัตว์โลกอย่างไร
พระพุทธเจ้าเที่ยวพัฒนาสอนคนให้หายโง่งมงาย เวลาเขาทำอะไรไม่เข้าท่า
พระองค์จะตรัสว่า อารยชนเขาไม่ทำอย่างนี้
บุรุษหนึ่งพ่อตาย ก่อนตายสั่งลูกไว้ว่าให้ไหว้ทิศทั้งหก ลูกก็เชื่อฟัง
ไปอาบน้ำ นุ่งห่มผ้าอย่างดีแล้วไปยืนไหว้ทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ
ทิศใต้ ไหว้ทุกวัน พระพุทธเจ้าเสด็จมาเห็นเข้า ถามว่าเธอทำอะไร
ไหว้ทิศตามคำสั่งของพ่อ พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า
“พ่อเธอมิได้หมายความเช่นนั้น ทิศหมายถึงคนที่เราเกี่ยวข้องหกประเภท คือ
บิดามารดา ครูอาจารย์ สมณะชีพราหมณ์ สามีภรรยา นายจ้างลูกจ้าง มิตรสหาย
สอนให้ปฏิบัติตนอย่างไร ทำหน้าที่ให้ถูกต้องต่อบุคคลนั้นต่างหาก
คือการไหว้ทิศ ไม่ใช่ให้ไปยกมือไหว้ปลกๆ แบบนี้”
หลวงพ่อพูดสอนธรรมะได้อย่างมหัศจรรย์ ครบสูตรของ “หลักการเผยแผ่ธรรม” อยู่ในตัว คือ ชี้ชัด ชักชวนให้อยากปฏิบัติ ฝึกให้กล้า เร้าให้ร่าเริง
พระที่ยืนเทศน์หรือนั่งเทศน์ปากเปล่า
ไม่เคยมีโน้ตวางข้างหน้าแม้แต่ครั้งเดียว พูดเจื้อยแจ้ว เสียงใส
ชัดถ้อยชัดคำ ถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาจากริมฝีปากบางๆ นั้น
ยังกับเจียระไนมาอย่างดี สละสลวย ไพเราะ เริงรื่น ชื่นใจ
ก่อเกิดปีติปราโมทย์อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
ในเมืองไทยนี้มีพระคุณเจ้ารูปนี้รูปเดียว ท่านเป็นนักเผยแผ่ธรรมชั้นยอด
หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก
เรียกได้ว่าหลวงพ่อท่านได้สร้างประวัติศาสตร์ของการเทศน์สอนธรรมที่โด่งดัง
ที่สุดชนิดที่ไม่มีใครจะลบประวัติศาสตร์หน้านี้ได้เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายอยากจะเอาแบบอย่าง
ฝึกฝนตนเองเพื่อให้ได้อย่างหลวงพ่อ หรืออย่างน้อยก็ส่วนเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี
“การสร้างพระคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่
สุด วิเศษที่สุด ก็คือคัมภีร์ธรรมที่อยู่ในใจของเรา
เอาร่างกายเป็นตู้ใส่คัมภีร์ เอาใจเป็นที่จารึกพระคัมภีร์
จารึกไว้ในใจตลอดเวลา” นี้คือหลักธรรมคำสอนที่ท่านมีความมุ่งหมายจะปลูกฝังให้อยู่ในจิตใจของชาวพุทธทั่วไป
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุสั่งหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ว่า อย่าลืมเทศน์สอนเน้นย้ำ เรื่องความไม่เห็นแก่ตัว
ให้มากและให้บ่อยที่สุด เจ้าความเห็นแก่ตัวนี้แหละร้ายกาจ
ทำให้ชาติวิบัติฉิบหาย ต้องช่วยกันพยุงชาติศาสนาให้คงอยู่ต่อไป
ด้วยการชี้โทษของความเห็นแก่ตัว
แสดงปาฐกถาธรรมในงานประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ ๓
เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
๏ งานด้านการเผยแผ่และศาสนากิจในต่างประเทศ
พ.ศ.๒๔๗๖ ร่วมคณะธรรมทูตชุดที่ชื่อว่า “พระภิกษุใจสิงห์” รวม ๔๕ รูป
เดินธุดงค์ไปเผยแผ่ธรรมที่ประเทศพม่ากับ “พระโลกนาถ” พระภิกษุชาวอิตาเลียน
โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
พระราชทานอุปถัมภ์รูปละ ๕๐ บาท พร้อมหนังสือเดินทาง
พ.ศ.๒๔๙๗ เดินทางไปเผยแผ่ธรรมและช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนาในต่างประเทศ
อาทิเช่น ในทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
ฯลฯ และร่วมประชุมกับขบวนการฟื้นฟูศีลธรรมโลก (M.R.A.) ที่เมืองโคซ์
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
จนหลวงพ่อได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมใน
ภาคพื้นยุโรป
พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม เมืองฮินสเดล รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.๒๕๓๖ ไปร่วมประชุมและบรรยายในการประชุมสภาศาสนาโลก ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม-๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๖
๏ งานด้านสาธารณูปการและสาธารณประโยชน์
พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม (สำหรับอุบาสกอุบาสิกา)
และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (สำหรับเด็กเยาวชน) วัดชลประทานรังสฤษฎ์
พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ (ตึก ๘๐ ปี
ปัญญานันทะ) โรงพยาบาลชลประทาน ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
สิ้นทุนทรัพย์ ๒๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยยี่สิบล้านบาท)
– เป็นประธานมูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
และหาทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อ.เสนา
จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นทุนทรัพย์ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามสิบล้านบาท)
ซึ่งไม่รวมหาทุนจัดซื้อที่ดิน เพิ่มอีก ๕๐๐ ไร่
พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นประธานสร้างพระอุโบสถให้วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่ ประมาณ ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านห้าแสนบาท)
พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นประธานสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนประภัสสรรังสิต ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาท)
– เป็นประธานสร้างวัดปัญญานันทาราม ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สิ้นทุนทรัพย์ ๗๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดสิบเจ็ดล้านบาท)
– บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่างๆ หลายจังหวัด
– เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์
พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นประธานทอดผ้าป่าหาทุนให้โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาท)
พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นประธานสร้างวัดพุทธปัญญา ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี
พ.ศ.๒๕๔๒
เป็นประธานทอดผ้าป่าหาทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ
ภูเก็ต ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ประมาณ ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท
(สามล้านสามแสนบาท)
– เป็นประธานทอดผ้าป่าหาทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลพัทลุง
ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาท)
เป็นประจำทุกปี
พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นประธานจัดหาทุนสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น อาคาร ๙๐ ปี
พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทะ) ให้โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จ.นนทบุรี
สิ้นทุนทรัพย์ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสองล้านบาท)
– เป็นประธานทอดผ้าป่าหาทุนให้โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ต.ท่าใส อ.เมือง จ.นนทบุรี ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาท) เป็นประจำทุกปี
พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นประธานจัดหาทุนสร้างอาคารที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อาคาร ๙๒ ปี
ปัญญานันทะ ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย
ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นทุนทรัพย์ ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(ห้าสิบล้านบาท)
– เป็นประธานสร้างถนนให้โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาท)
พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นประธานหาทุนซื้อที่ดิน ๑๒๕ ไร่
ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย ต.ลำไทร
อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นทุนทรัพย์ ๑๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(หนึ่งร้อยยี่สิบห้าล้านบาท)
– เป็นประธานทอดผ้าป่าให้โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จ.นนทบุรี ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาท)
– เป็นประธานอุปถัมถ์ให้โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม จ.นนทบุรี
– เป็นประธานอุปถัมถ์ให้โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จ.นนทบุรี
– เป็นประธานอุปถัมถ์ให้โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จ.นนทบุรี
– เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ) โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี
พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นประธานหาทุนสร้างศูนย์เด็กเล็กบ้านโตมด ต.โตมด อ.โตมด จ.พัทลุง สิ้นทุนทรัพย์ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาท)
– เป็นประธานหาทุนสร้างอุโบสถ์กลางน้ำ
ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย ต.ลำไทร
อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นทุนทรัพย์ ๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(หนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาท)
พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นประธานทอดผ้าป่าให้โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม จ.นนทบุรี ประมาณ
๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาท) เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐
(ซ้าย) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ
(ขวา) พระพรหมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
(กลาง) พระเทพปริยัติเมธี (รุ่น ธีรปญฺโญ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ
๏ งานพิเศษ
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่สมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓
พ.ศ.๒๕๑๘ ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘
– ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ
ในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ยิ่ง ณ
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘
– เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น
ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
พ.ศ.๒๕๒๙
ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเซียนเพื่อสันติภาพ
ครั้งที่ ๗ ณ ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference
for Peace)
พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมและบรรยายในการประชุมสภาศาสนาโลก ๑๙๙๓
ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม-๔ กันยายน
พ.ศ.๒๕๓๖ (The 1993 Parliament of the world’s Religion)
๏ งานด้านวิทยานิพนธ์
ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น
๑. ทางสายกลาง
๒. คำถามคำตอบพุทธศาสนา
๓. คำสอนในพุทธศาสนา
๔. หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
๕. รักลูกให้ถูกทาง
๖. ทางดับทุกข์
๗. อยู่กันด้วยความรัก
๘. อุดมการณ์ของท่านปัญญา
๙. ปัญญาสาส์น
๑๐. ชีวิตและผลงาน
๑๑. มรณานุสติ
๑๒. ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
๑๓. 72 ปี ปัญญานันทะ เป็นต้น
๏ ผลงานและเกียรติคุณดีเด่น
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับรางวัลสังข์เงิน
เป็นเกียรติในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๒๐
จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับรางวัลนักพูดดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๐ ประเภทเผยแพร่ธรรม
จากสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑
พ.ศ.๒๕๒๕
ได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาใน
โอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี โดยได้รับรางวัล ๒ รางวัล ๒ ประเภท คือ
ประเภท ก. บุคคล และประเภท ง. สื่อสารมวลชน
(รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์) เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม
พ.ศ.๒๕๒๕
พ.ศ.๒๕๒๖ จากผลการพัฒนาวัดชลประทานรังสฤษฎ์ กรมการศาสนาได้พิจารณาให้เป็น
“วัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๕” สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ทรงพอพระทัยได้ประทานพัดพัฒนาไว้เพื่อเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๕๒๖
พ.ศ.๒๕๒๘ ได้รับโล่เป็นเกียรติในการประชุมวิชาการ ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๘/๒๕๒๙ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
พ.ศ.๒๕๓๑ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
(วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ทรงประทานวุฒิบัตรสัญลักษณ์อนุรักษ์ผู้ประพฤติธรรม เมื่อวันที่ ๒๐
กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑
พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับโล่รางวัลคนดีศรีปักษ์ใต้ จากสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๘
– ได้รับรางวัลเหรียญทอง TOBACCO OR HEALTH MEDAL-1955
จากองค์การอนามัยโลก (ยูเนสโก) เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก เมื่อวันที่ ๓๑
พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘
พ.ศ.๒๕๓๙
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณวิทยากรผู้สัมมนาโครงการปีรณรงค์ประชาร่วมใจกำจัด
โรคเรื้อน จากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙
–
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณวิทยากรผู้สัมมนาโครงการเพิ่มพูนความรู้พนักงาน
สอบสวน จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กรมตำรวจ
(ปัจจุบันคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ในสมัยที่พลตำรวจโทมนัส ครุฑไชยันต์
เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
พ.ศ.๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานโล่รางวัลมหิดลวรานุสรณ์
พ.ศ.๒๕๔๔ อายุครบ ๙๐ ปีบริบูรณ์ ในวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔
คณะศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างประเทศพร้อมใจกันจัดงานธรรมสมโภช
และอาจริยบูชา
พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับรางวัลศาสตรเมธี สาขาสังคมศาสตร์ ด้านศาสนาและปรัชญา
จากมูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม
พ.ศ.๒๕๔๖
พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับโล่รางวัลเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนพัทลุง
ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง จากคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปีโรงเรียนพัทลุง
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘
–
ได้รับใบประกาศเกียรติบัตรการบริจาคสมทบทุนจัดซื้อที่ดินมหาวิทยาลัยมหาจุฬา
ลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จากพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม
พ.ศ.๒๕๔๘
พ.ศ.๒๕๔๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์
พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดเกล้าฯ
ให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญแจกันดอกไม้พระราชทาน ในการบำเพ็ญกุศลครบ ๙๕ ปี
พระพรหมมังคลาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙
– สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร
จำนวน ๑๐ ไตร สำหรับทอดถวายพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ ในการบำเพ็ญกุศลครบ
๙๕ ปี พระพรหมมังคลาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙
– ได้รับใบประกาศรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน
ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จาก ฯพณฯ นายวัฒนา เมืองสุข
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่
๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙
ซ้าย : พระพรหมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
ขวา : พระเทพปริยัติเมธี (รุ่น ธีรปญฺโญ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง ๙
อสมท.) รายการคนค้นคน ตอน ชีวิตเพื่องาน งานเพื่อธรรมะ ของบริษัท ทีวีบูรพา
จำกัด เมื่อวันที่ ๙ และวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
– ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ
ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ ของสำนักงานคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีศาสตราจารย์
ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ เป็นประธานกรรมการคุรุสภา จาก ฯพณฯ
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
– ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศสดุดีเกียรติคุณผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี
พ.ศ.๒๕๕๐ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จาก ฯพณฯ
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ
มนุษย์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งนี้
ตามประกาศสดุดีเกียรติคุณส่วนหนึ่งที่ว่า
“….ด้วยเพราะท่านเป็นพระมหาเถระผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ
บริสุทธิ์ด้วยศีลาจารวัตร
ปฏิบัติศาสนกิจด้วยจิตมุ่งมั่นที่จะทำงานเผยแผ่ธรรมะตลอดชีวิตการทำงานของ
ท่าน จวบกาลบัดนี้ สิริอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๗๖
นับว่าเป็นผู้ที่สูงอายุมากแล้ว
แต่ท่านก็ยังทุ่มเททำงานเป็นประโยชน์แก่สังคมด้วยการแสดงปาฐกถาธรรม
ประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์ กิจกรรมการแพทย์และพยาบาล
การศึกษาของภิกษุสามเณร พุทธบริษัททั้งในและต่างประเทศ
จนเป็นที่ยอมรับเลื่อมใสศรัทธากันทั่วไป
คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในการประชุม เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์
๒๕๕๐ จึงมีมติขอประกาศสดุดีเกียรติคุณท่านในฐานะ “ผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี
พ.ศ.๒๕๕๐” เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตามต่อไป”
๏ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาศึกษาศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๒
พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๔
พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖
– ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญาและศาสนา) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๗
พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับปริญญาการศึกษาศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาสังคมศึกษา)จากมหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔
พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาพุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗
– ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗
ภาพเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์
๏ ลำดับสมณศักดิ์
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระปัญญานันทมุนี”
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชนันทมุนี”
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพวิสุทธิเมธี”
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ “พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ “พระพรหมมังคลาจารย์ ไพศาลธรรมโกศล วิมลศีลาจารวินิฐ พิพิธธรรมนิเทศ พิเศษวรกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
อนุสาวรีย์ภิกขุปัญญานันทะ
ณ วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) อ.เมือง จ.เชียงใหม่
๏ ลำดับการจำพรรษา
พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๗๓ (๒ พรรษา) ขณะเป็นสามเณร จำพรรษาที่วัดอุปนันทาราม ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง
พ.ศ.๒๔๗๔-๒๔๗๕ (๒ พรรษา) จำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
พ.ศ.๒๔๗๖-๒๔๗๙ (๔ พรรษา) จำพรรษาที่วัดอุทัย อ.เมือง จ.สงขลา
พ.ศ.๒๔๘๐ (๑ พรรษา) จำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๖ (๖ พรรษา) จำพรรษาที่วัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๘๘ (๒ พรรษา) จำพรรษาที่วัดอุทัย อ.เมือง จ.สงขลา
พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๐ (๒ พรรษา) จำพรรษาที่วัดศรีตะวัน รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย
พ.ศ.๒๔๙๑ (๑ พรรษา) จำพรรษาที่วัดปิ่นบังอร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๒ (๑๑ พรรษา) จำพรรษาที่วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๓๕ (๓๓ พรรษา) จำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
พ.ศ.๒๕๓๖ (๑ พรรษา) จำพรรษาที่วัดพุทธธรรม เมืองฮินสเดล รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๕๐ จำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ลูกศิษย์ต่างแห่มากราบเคารพสรีระสังขารของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ณ โรงพยาบาลศิริราช
๏ การมรณภาพ
พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยอาการโรคปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อเวลา ๐๙.๐๕ น. ของวันพุธที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ สิริอายุรวม ๙๖ ปี ๔ เดือน ๒๙ วัน พรรษา ๗๖ การมรณภาพของท่าน พระผู้เป็น “สุปฏิปันนสาวก” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธบุตรผู้เป็น “ประทีปส่องทางชีวิต” แก่ชาวพุทธทั้งปวง ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการคณะสงฆ์ไทย ท่ามกลางความเศร้าสลดอาลัยของคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสูญเสียปูชนียสงฆ์รูปสำคัญอันเป็นแม่ทัพธรรมระดับแนวหน้าไปอย่างสงบ เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานอันทรงคุณค่าคุณูปการยิ่งที่อุทิศให้แด่พระศาสนา เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำไว้เบื้องหลัง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงว่า โรงพยาบาลศิริราชได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลชลประทาน ในการส่งหลวงพ่อปัญญาฯ มารักษาตัวตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม เวลา ๑๓.๓๐ น. โดยเข้าพักรักษาตัวที่ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๕ ห้อง ๕๒๙ โดยท่านมีอาการหน้ามืด วูบ เหนื่อย และแน่นหน้าอก ซึ่งก่อนหน้านี้หลวงพ่อปัญญาฯ เคยอาพาธเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และเคยได้รับการถ่างขยายหลอดเลือด และใส่สเต็น (stent) หรือขดลวดอยู่แล้ว
เมื่อหลวงพ่อปัญญาฯ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ทีมแพทย์จึงให้การดูแล และวินิจฉัยว่าน่าจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทางแพทย์ได้ตรวจอีกครั้งด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจ พบว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดจริง จึงขยายหลอดเลือดหัวใจพร้อมได้ใส่สเต็นไว้ และให้พักรักษาที่ห้องไอซียู หออภิบาลทางโรคหัวใจ ในวันที่ ๕ ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนจะย้ายกลับไปรักษาที่ตึก ๘๔ ปี ในวันที่ ๖ ตุลาคม
ปรากฏว่าในช่วงบ่ายวันที่ ๖ ตุลาคม หลวงพ่อปัญญาฯ เริ่มไอ มีเสมหะ และติดเชื้อ จึงย้ายไปรักษาที่หออภิบาลอีกครั้ง และได้เอ็กซเรย์ปอด พบว่าเริ่มมีการติดเชื้อในปอด จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ตรวจพบว่าการทำงานของไตเริ่มแย่ลง การติดเชื้อมากขึ้น ทำให้การใช้ยาควบคุมทำได้ยาก สุดท้ายเกิดไตวายเฉียบพลัน และเมื่อคืนวันที่ ๙ ตุลาคม หลวงพ่อปัญญาฯ มีอาการหัวใจวายและหยุดหายใจ ๑ ครั้ง ทางทีมแพทย์ต้องช่วยรักษาให้หัวใจกลับมาเต้นอีกครั้ง แต่ในตอนเช้าท่านมีอาการทรุดหนัก การทำงานของหัวใจแย่ลงอีก จนกระทั่งมรณภาพในที่สุด เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. ในช่วงเช้าของวันที่ ๑๐ ตุลาคม นี้
ขบวนแห่สรีระสังขารของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ มาตั้งบำเพ็ญกุศล
ณ ศาลาขจรประศาสน์ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เมื่อวันที่ ๑๒ ต.ค. ๒๕๕๐
บรรยากาศพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ กำหนด ๗ คืน
ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๘ ต.ค. ๒๕๕๐ ณ ศาลาขจรประศาสน์ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์พิธีศพพระพรหมมังคลาจารย์
(หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี
เป็นอเนกประการ ดังนี้ (๑) พระราชทานพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม กำหนด ๗ คืน
(๒) การบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน, ๕๐ วัน, ๑๐๐ วัน (๓)
บำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของ
ได้แก่ หีบพร้อมเครื่องสุกำศพ, พร้อมดอกไม้ประดับศพ เมรุ
ดอกไม้จันทน์แก่แขกที่มาพระราชทานเพลิงศพ,
ผ้าไตรพร้อมจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์บังสุกุลก่อนเคลื่อนศพ, พระนำศพ
พระบังสุกุลก่อนพระราชทานเพลิงศพ, พระสามหาบ (พระเก็บกระดูก),
จตุปัจจัยถวายพระสงฆ์หน้าไฟ, ภัตตาหารถวายบรรจุปิ่นโตถวายพระพระราชทาน,
ลุ้งสำหรับใส่อังคาร, น้ำเลี้ยงพระสงฆ์และแขกที่มาร่วมงานทั้งหมด
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ
ส่วนโกศทองแปดเหลี่ยมกับเครื่องประกอบพิธีศพ น้ำหลวงสรงศพ สวดพระอภิธรรม ๓
คืน และไตรครอง ๑ ไตร
เป็นสิ่งที่ต้องได้รับพระราชทานตามระดับชั้นสมณศักดิ์อยู่แล้ว
พระพยอม กัลยาโณ-หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
๏ การสูญเสียแม่ทัพธรรมระดับแนวหน้า
พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้สูญเสียแม่ทัพระดับแนวหน้าทางธรรม หลังจากได้สูญเสียแม่ทัพก่อนหน้านี้มาแล้วคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี หลวงพ่อปัญญาฯ เป็นพระที่ยืนหยัดแนวทางไม่เอาวัตถุมงคล แต่ใช้พระธรรมคำสั่งสอน ไม่เอาแนวอื่นนอกจากแนวพระพุทธศาสน์ล้วนๆ ในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ผลที่ได้รับคือวัดในกรุงเทพฯ ได้นำแนวทางนี้ไปใช้เกือบทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้หลวงพ่อปัญญาฯ ยังปฏิรูปประเพณี เช่น งานบวช งานเผาศพ ฯลฯ จะต้องมีประโยชน์สุดประหยัดสูง
ในบรรดาพระที่เผยแผ่จะต้องรู้สึกว่าท่านเป็นเสมือนแม่ทัพธรรม การสูญเสียหรือมรณภาพก็เหมือนขาดหัวหอกที่คอยฟาดฟันกิเลส เพราะธรรมะของท่านเป็นคำสอนที่ไม่เอาเรื่องลึกลับ เพราะเรื่องลึกลับมันดับทุกข์ไม่ได้ ท่านเน้นลึกซึ้งมากกว่า เพราะถ้าเราเข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งเมื่อไหร่ ความทุกข์ก็จะลดลงได้ เราไม่ควรไปโศกเศร้าเสียใจกันมาก เพราะสังขารก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถึงเวลาต้องไปเราก็ต้องไป ต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เอาคำสอนของท่านมาฟัง แล้วเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หมั่นสร้างความดีจะดีกว่า
จะหาพระสงฆ์องค์ไหนที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งที่ถูกต้องเหมือนหลวงพ่อปัญญาฯ ไม่มีอีกแล้ว เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ที่กล้าทะลวงฟันกิเลสสังคม ก่อนหน้านี้อาตมาเคยพูดคุยบอกกับหลวงพ่อปัญญาฯ ไว้ว่า หากมีเวลาว่างๆ จะมารับท่านไปดูศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขาบุรีรัมย์ ที่อาตมากำลังก่อสร้างอยู่ แต่ไม่ทันที่จะได้รับหลวงพ่อไป ท่านก็จากไปเสียก่อนแล้ว
พระพยอม กล่าวต่อว่า สำหรับทายาททางธรรมของหลวงพ่อปัญญาฯ นั้น หาได้แต่ไม่ใกล้เคียง อาตมาอยากสมัครเป็นทายาททางธรรมของท่าน แต่ไม่รู้ท่านจะรับหรือเปล่า หลวงพ่อปัญญาฯ เคยพูดไว้ว่า ถ้าไม่ทำตามแนวท่านสอนอย่ามาวอนเรียกอาจารย์ และท่านไม่เคยพูดถึงทายาททางธรรม ไม่ระบุว่าเป็นใคร
อาตมาพยายามที่อยากจะทำตามแนวทางของหลวงพ่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้ขี้ฝุ่นของท่านเลย กระดูกมันคนละเบอร์ ทำให้นึกถึงตอนสมัยแรกๆ ที่อาตมาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดชลประทานใหม่ๆ ก่อนที่จะเริ่มเทศน์เป็น หลังจากที่เทศน์เป็นแล้ว หลวงพ่อปัญญาฯ มาบอกกับอาตมาว่า ในเมื่ออาตมาสามารถที่เทศน์สอนคนได้แล้ว และเจอทางที่ถนัด ก็ควรที่แยกกันไปตามทางเพื่อทำงานช่วยเหลือสังคมกันตามที่ถนัด ไม่ควรเสียเวลาที่จะช่วยเหลือคน อาตมาจึงเริ่มออกเดินทางโดยนับถือแนวทางปฏิบัติของท่านตั้งแต่นั้นมา
“เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ตั้งแต่เช้าท่านปัญญามรณภาพ วิทยุโทรทัศน์ต่างเสนอข่าวมากมาย และมุ่งมาที่อาตมา อาตมามีความตั้งใจแน่วแน่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านปัญญา คือจะเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนไม่ให้คนหลงในเรื่องไสยเวทย์ จะทำให้คนชัดเจนในเรื่องแนวพุทธศาสน์ให้มากขึ้น อาตมาชอบแนวของท่านปัญญา เคยร่วมงานกับท่านเป็นเวลาหลายปี เคยไปจำวัดอยู่กับท่าน สนทนาธรรมกับท่าน มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเคยบอกว่า เป็นพระ เณร ต้องมีคุณค่าของนักบวช ต้องทำงานให้พระศาสนา ต้องทุ่มเทเต็มที่”
สุดท้ายอยากให้ทุกคนรู้ว่าหลวงพ่อปัญญาฯ จากไปครั้งนี้ อย่าสิ้นศรัทธา อย่าสิ้นปัญญา ที่จะสืบบางอย่างที่ท่านทำเก็บเอาไว้เป็นคุณูปการต่อแผ่นดิน ขอให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำให้มาก
แบบจำลองพระอุโบสถกลางน้ำ
๏ พระอุโบสถกลางน้ำ งานชิ้นสุดท้ายที่ยังทำไม่เสร็จ
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ตั้งปณิธานที่จะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาเป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตว่า “จะขอสร้างพระอุโบสถกลางน้ำ ตราบใดที่มีลมหายใจเข้าออก ต้องทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จ ไม่เลิก”, “ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามนั้น ถ้าไม่เสร็จ และยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องทำให้มันเสร็จ” และ “ถ้าโบสถ์ไม่เสร็จ ไม่ตาย”
สำหรับที่มาของแนวคิดในการจัดสร้างพระอุโบสถกลางน้ำ ก็คือ ความต้องการที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนสถานที่สังฆกรรมขนาดใหญ่ จึงต้องการที่จะจัดหาพื้นที่รองรับพระภิกษุสงฆ์นับเป็นจำนวนพันรูป ที่จะเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยพระอุโบสถแห่งนี้จะเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ร่วมกันในจำนวนมากอย่างพร้อม เพรียง ด้วยเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ เทียบได้ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย
พระอุโบสถกลางน้ำไม่เพียงแต่ใช้เป็นที่ชุมชุมของสงฆ์ หากแต่พระอุโบสถแห่งนี้ยังมุ่งหมายให้ประเทศไทยเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็น ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา สามารถใช้การประกอบพิธีทางศาสนาของชาวพุทธ “ทั่วโลก” และใช้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทำลายไปใน สมัยเสียกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย เสร็จสิ้นแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้จะรองรับพระภิกษุสงฆ์ได้จำนวนมากถึง ๒๐,๐๐๐ รูป
หลวงพ่อปัญญาฯ เคยกล่าวไว้ว่า “พระอุโบสถกลางน้ำเป็นสถานที่ในการศึกษาเรียนรู้ของผู้สนใจในหลักธรรมะ เคยเห็นผู้ที่เดินทางไปเรียนหลักธรรมะจากประเทศอินเดีย จีน ถ้าอยากให้คนต่างชาติมาเรียนพุทธศาสนาในไทย ก็จะต้องสร้างแหล่งเรียนรู้ที่น่าศึกษาเรียนรู้ให้เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ หลวงพ่อปัญญาฯ ยังกล่าวไว้อีกว่า “ควร จะทำ ฝากสิ่งที่ดีๆ ไว้ ท่านอยากให้คนไทยรู้จักศีลธรรม และปฏิบัติตนเป็นคนดี และยังมีอีกหลายสิ่งที่จะต้องทำเพื่อพุทธศาสนาอีกมากมาย ท่านเลยอยากจะขออยู่อย่างน้อยให้อายุครบ ๑๐๐ ปี”
สำหรับพระอุโบสถทรงไทยประยุกต์กลางน้ำ ซึ่งเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่สองชั้นนั้น ท่านมีความตั้งใจที่จะให้เป็นสถานที่อันเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ของผู้สนใจใน หลักธรรมะ ซึ่งพระอุโบสถกลางน้ำแห่งนี้มีมูลค่ากว่า ๑๔๐ ล้านบาท สร้างขึ้นบนเนื้อที่กว่า ๑๒๐ ไร่ ติดถนนพลโยธิน ใกล้กับทางขึ้นมอเตอร์เวย์ หมู่ที่ ๕ ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย อันมีเนื้อที่รวมทั้งหมด ๒๐๐ ไร่ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน ผลการก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า ๖๐ % และกำหนดแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ถือเป็นศาสนสถานที่หลวงพ่อปัญญาฯ ตั้งใจที่จะสร้างให้แล้วเสร็จก่อนมรณภาพ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ยังไม่แล้วเสร็จท่านก็ได้มรณภาพไปก่อน เป็นงานชิ้นสุดท้ายที่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่รูปนี้ ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ แต่ด้วยเงื่อนไขของอายุ ทำให้ไม่สามารถที่จะเห็นโครงการนี้แล้วเสร็จลงได้
สำหรับรายละเอียดของการจัดสร้างพระอุโบสถกลางน้ำนั้น จะเป็นพระอุโบสถทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น อยู่กลางสระน้ำใหญ่ พื้นที่ชั้นบนรองรับพระสงฆ์ได้ ๔๐๐ รูป และมีลานล้อมรอบพระอุโบสถ ส่วนชั้นล่างเป็นฐานอุโบสถ ครอบคลุมพื้นที่ลานจากส่วนบน จึงมีขนาดกว้างขวางและอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ รองรับคณะสงฆ์ได้ ๔,๐๐๐ รูป โดยได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โครงการนี้ถือเป็นความต่อเนื่องมาจากการจัดสร้างอาคาร ๙๒ ปี ปัญญานันทะ สำหรับเป็นที่พักของพระสงฆ์ได้เป็นหมู่คณะ หากเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตวังน้อย ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณก่อสร้างกว่า ๖๐ ล้านบาท อันมีที่มาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา
พระอุโบสถกลางน้ำที่กำลังก่อสร้าง
ภาพพระอุโบสถกลางน้ำ ถ่าย ณ วันที่ ๒๕ ก.พ. ๒๕๕๑
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในขณะนั้น เปิดเผยว่า การกระทรวงศึกษาธิการเตรียมประกาศยกย่องพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ต่อ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น บุคคลดีเด่นของโลก ซึ่งหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเสนอได้ เพราะเป็นผู้ทำคุณูปการให้กับวงการศาสนาและการศึกษา ทั้งนี้ การจะเสนอชื่อเป็นบุคคลดีเด่นของโลกต่อองค์การยูเนสโกนั้น ผู้ที่จะถูกนำเสนอได้จะต้องมีอายุครบ ๑๐๐ ปี หรือหากเสียชีวิตไปแล้วจะต้องรอให้ครบรอบวันเกิดของบุคคลคนนั้นให้ครบ ๑๐๐ ปี และต้องทำเรื่องเสนอต่อยูเนสโกล่วงหน้า ๒ ปี ก่อนที่ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ดังนั้น หากจะเสนอชื่อหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ จะต้องเสนอชื่อในปี พ.ศ.๒๕๕๒ เพราะหลวงพ่อจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๕๔
ที่มา วัดชลประทานรังสฤษฎ์