ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นวัดโบราณอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-1
ตามตำนาน “เพลาวัด” กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วว่า นางเลือดขาวกับพระยากุมาร เป็นผู้สร้างวัดขึ้น มีกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วให้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า “เพลาวัด”
โดยสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1492 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.1493 เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์
ตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้ว มีประวัติจารึกเรื่องราวไว้หลายตำนาน เช่น ประวัติเขียนบางแก้วของ พระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ.1482 (จ.ศ.301)
พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.1486 ส่วนทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า วัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ.1482
จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ 15-18 แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และได้รับอธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช
ภายในบริเวณจัดได้พบโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ แสดงว่าบริเวณท้องที่แห่งนี้ มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และคงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย
ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งของคณะป่าแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูเสมอๆ
จนบางครั้งพวกโจรสลัดเข้ามาเผาผลาญบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้วัดเขียนบางแก้วจึงทรุดโทรมเป็นวัดร้างชั่วคราว จนเมื่อชาวพัทลุงสามารถรวมตัวกันได้จึงบูรณะวัดขึ้นอีก และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง
ในสมัยอยุธยากล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือครั้งแรก ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่าง พ.ศ.2109-2111 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะคือ เจ้าอินบุตรปะขาวสนกับ นางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน และครั้งที่ 2 สมัยพระเพทราชา พ.ศ.2242 ผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์คือ พระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง
เมื่อได้ทำการบูรณะแล้วจึงเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระ ขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ร่วมทำการบูรณะ เว้นเสียส่วยสาอากรให้ทางราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามทูลขอทุกประการ
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง จนเมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน
พระบรมธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28 เมตร สูง 2.63 เมตร
ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน
มุมบันไดทั้ง 2 ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม
ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง 4 (พระมหาพันธ์ ธมมนาโก สร้างไว้เมื่อ ปี 2515) ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5 ดอก 4 ใบ (ทองคำถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521)
ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
วัดพระบรมธาตุเขียนบางแก้ว กรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา (กรมศิลปากร : 431)