ราเชน ลุยพื้นที่พัทลุงพร้อมเปิดฐานเสียงทางการเมือง สังกัดพรรคทางเลือกใหม่

วันนี้ 18 มิถุนายน 2565 ที่ห้องประชุมโรงแรมศิวาโรยัล อ.เมืองพัทลุง นายราเชน ตระกูลเรียง หัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ ประชุมแกนนำคนสำคัญของพรรคฯในพื้นที่ จ.พัทลุง เพื่อกำหนดวางตัวผู้สมัครของพรรคและเปิดศูนย์ของพรรค การรับสมัครสมาชิกพรรค

ทางด้านนายราเชน ตระกูลเรียง กล่าวว่าพรรคทางเลือกใหม่มีความพร้อมสูงในการธงในพื้นที่ จ.พัทลุง มั่นใจว่าพรรคจะมีคะแนนเสียงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เรามีความพร้อมมากกว่าความหวัง นโยบายของพรรคฯที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนทั่วประเทศได้ คือ นโยบายเงินทุนเจ้าบ้าน เพียงเป็นเจ้าของบ้านก็จะได้รับสิทธินั้นได้ทันที โดยการกู้เงินทีไม่ต้องใช้มีหลักประกัน หากประชาชนเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีก็ขอเสียงครอบครัวละ 1 เสียงก็พอ

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเป็นของประชาชนแต่มีบางคน บางกลุ่มเป็นเจ้าของรัฐบาล วันนี้พรรคฯมาสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้เข้าถึงเงินทุนแบบง่ายๆเพระพรรคกล้าคิด กล้าทำ และทำจริง ขณะนี้พรรคฯได้ไปพบกับประชาชนทั่วประเทศแล้วทุกจังหวัด และมีการวางตัวผู้สมัครของพรรคไว้เกินครึ่งแล้ว คาดว่าก่อนที่จะมีกฤษฎีกาการเลือกตั้งพรรคฯจะมีผู้สมัครทั้ง 400 เขต และพรรคจะส่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากกว่า 50 คน

สำหรับตนนั้นเคยเป็นอดีตแกนนำ กกปส. มาก่อน ซึ่งเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะสร้างความแยกแยกให้กับบ้านเมือง การตั้งพรรคการเมืองเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งพรรคฯนั้นจะชูนโยบายจิตอาสาทางการเมือง ไม่สร้างความแตกแยกให้กับบ้านเมือง หากประชาชนไม่ต้องการให้ประเทศไทยไปสู่การเมืองที่มีการทะเลาะกัน แยกพวกแยกฝ่ายก็ต้องเลือกพรรคทางเลือกใหม่ เพราะพรรคทางเลือกใหม่คือโอกาสของคนไทยที่สามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้ง่ายๆ ในส่วนของ จ.พัทลุงพรรคมีผู้สมัครเขตเลือกตั้งที่ 1 แล้ว คือ นายวิศิษฐ์ ชูสง อดีตนายกเทศมนตรีตำบลโคกม่วง อ.เขาชัยสน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2,3 ได้มีผู้แสดงตนเข้ามาสมัครลงรับเลือกตั้งและได้มีการพูดคุยกับบรรดาผู้สนับสนุนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.

ตรวจยึดอาวุธปืนสงครามปืนกลเอ็ม60 ของฉุย เขาจันทร์ อ้างไม่ได้ใช้ก่อเหตุยิง ตร.กองปราบเสียชีวิต

ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรพัทลุง สอบเค้น ฉุย เขาจันทร์ จนยอมเปิดปากรับว่ายังมีอาวุธปืนสงครามซุกซ่อนอยู่แต่อ้างไม่ได้ใช้อาวุธดังกล่าวในวันก่อเหตุยิงปะทะตำรวจกองปราบ โดยบอกว่าได้อาวุธดังกล่าวมาจากพื้นที่ 3 จังหวัด ส่งต่อประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแลกกับยาบ้า

วันนี้ 29 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง พล.ต.ต.ตานิตย์ รามดิษฐ์ ผบก.ภ.จว.พัทลุง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง และชุดปราบปรามผู้มีอิทธิพลมือปืนรับจ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวผลการตรวจค้นอาวุธปืนสงคราม ที่เหลือและไม่ใช้ในวันก่อเหตุยิงปะทะเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ของนายจำรัส รักจันทร์ หรือ ฉุย เขาจันทร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง สอบสวนเพิ่มเติมวันที่ 27 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยนายฉุย ฯ ยอมเปิดปากบอกที่ซุกซ่อนอาวุปืนสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง และชุดปราบปรามผู้มีอิทธิพลมือปืนรับจ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อาวุธปืนที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วย อาวุธปืนกล M 60 จำนวน 1 กระบอก ,อาวุธปืนยาว AK- 47 จำนวน 1 กระบอก พร้อมซองบรรจุกระสุนปืน AK-47 จำนวน 1 ซอง เครื่องกระสุนปืน ขนาด 7.62 มม จำนวน 4 นัด สามารถตรวจยึดได้ที่ บริเวณสะพาน หมูที่ 7 ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง และ อาวุธปืนยาว M 16 A 1 จำนวน 1 กระบอก ซองบรรจุกระสุนปืน M 16 จำนวน 1 ซอง เครื่องกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. จำนวน 30 นัด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจยึดได้ที่ ริมคลองลำเบ็ด หมู่ที่ 6 ตำบลร่มเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถยึดอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นของนายฉุย ฯ คืออาวุธปืนยาว M 16 A1 จำนวน 1 กระบอก สถานที่ตรวจยึด บริเวณริมคลองเลียบถนนโหล๊ะหาร-ต้นส้าน หมูที่ 8 ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

ด้าน พล.ต.ต.ตานิตย์ รามดิษฐ์ ผบก.ภ.จว.พัทลุง แถลงข่าวว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบ ที่บริเวณสี่แยกท่านางพรหม อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และคนร้ายเสียชีวิต 1 นาย จากนั้นคนร้ายได้มอบตัวและถูกจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้ทั้งหมด พร้อมนำตัวมาสอบสวนเพิ่มเติมที่ตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง โดยจำรัส รักจันทร์ หรือนายฉุย เขาจันทร์ ยอมเปิดปากที่ซุกซ่อนอาวุธปืนสงครามทั้งที่ใช้ในวันก่อเหตุเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา และอาวุธปืนสงคราม ที่อ้างว่าไม่ได้ใช้ในวันก่อเหตุ โดยเฉพาะอาวุธปืนกล M60 ที่ในราชการทหาร ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่อันตราย โดยนายฉุย ฯได้มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน มาซุกซ่อนก่อนนำส่งต่อยังประเทศเพื่อนบ้านแลกกับยาบ้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนขยายผลว่าจะเป็นขบวนการค้าอาวุธปืนสงคราม หรือไม่

พล.ต.ต.ตานิตย์ รามดิษฐ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรพัทลุง ยังกล่าวอีกว่า เครือข่ายนายฉุย ยังมีอาวุธปืนอีกหลายกระบอกที่ยังมีการเก็บไว้ตามบ้านญาติ และเพื่อนร่วมงาน โดยทางเจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลหมดแล้ว ขอให้ผู้ที่ครอบครองรีบนำอาวุธปืนมามอบให้กับทางราช ขณะเดียวอาวุธปืนกล M60 ที่ในราชการทหาร นั้นได้ส่งรายงานให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง เข้ามาสอบตรวจสอบอีกครั้ง ว่าเป็นของหน่วยงานใดที่สูญหายบ้าง ส่วนข้อกล่าวหาจำรัส รักจันทร์ หรือฉุย เขาจันทร์ เบี้องต้น 1 ร่วมกันฆ่าผู้อื่น 2 ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและเจ้าพนักงาน 3 ร่วมกันมีอาวุธปืนสงครามและเครื่องกระสุนปืน ที่ไม่ได้รับอนุญาตไว้ในครอบครอง.

พระนอนปากพะยูน

พระพุทธรัตนารากร (พระนอน) เป็นพระปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาภายในวัดรัตนาราม (วัดบ่อหมาแป๊ะ) สร้างเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงถวายพระนามให้

เขาพระนอนที่ชาวปากพะยูนเรียกขานกัน เป็นเนินสูงสามารถมองเห็น ทะเลสาบสงขลาได้ถึงสามด้าน คือ ด้านทิศตะวันออกมองเห็นทะเลหลวง ส่วนทางด้านทิศตะวันตกจะมองเห็น ทั้งทะเลหลวง และอ่าวบางเตง สภาพพื้นที่โดยรอบมีธรรมชาติที่สวยงาม เป็นป่าละเมาะหนาแน่น มีพันธุ์ไม้นานาชนิด ระยะทางเดินขึ้นไปมีบันได 109 ขั้น ในปัจจุบันมีการพัฒนาถนนจนสามารถขับรถไปถึงองค์พระนอนได้

นักท่องเที่ยวฮืออา เจอสมเสร็จสัตว์ป่าสงวนขนาดใหญ่ ณ เขาล่อนนมสาว พัทลุง

ที่บริเวณยอดเขาล่อนนมสาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จ.พัทลุง นักท่องเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติ จำนวน 10 คน ออกเดินทาง 3 วัน 2 คืน เพื่อศึกษาธรรมชาติ โดยเราเริ่มเดินเท้ากันที่น้ำตกปากราง ม.2 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง แคมป์คืนแรกพักนอนที่ตรงริมน้ำบริเวณต้นไทร วันที่ 2

หลังหลังมื้อเช้าออกลุยต่อผ่านควนไอ้ทัง ทับดาน และตั้งแคมป์คืนที่ 2 บนยอดเขาล่อนนมสาว ในขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังตั้งแคมป์กันอยู่นั้นก็ได้มีสมเสร็จสัตว์ป่าสงวน ขนาดน้ำหนักประมาณ 600-700 กก. สูงประมณ 1.50 ม. ยาว ประมาณ 2 ม. ซึ่งถือว่าใหญ่มากในการพบเห็นครั้งนี้ ประมาณเวลา 16.30 น. หลังฝนขาดเม็ด ออกมาเล็มหญ้า ยอดไม้ และน้ำค้าง ห่างจากจุดที่นักท่องเที่ยวตั้งแคมป์ ประมาณ 300 ม.


นายบำรุงรัตน์ พลอยดำ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้จัดชุดสมาร์ท ออกลาดตระเวน ตลอดแนวเทือกเขา ทั้งพัทลุง ตรัง สตูล ก็ได้ผลดีเยี่ยมเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วงหลังทั้งเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสยลโฉมสมเสร็จสัตว์ป่าสงวนบ่อยขึ้น ซึ่งตลอดแนวเทือกเขาที่ทางตนดูแลอยู่คาดว่าสมเสร็จมีมากกว่า 1 พันตัว


อย่างไรก็ตาม สมเสร็จ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินพืช มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน มีจมูกคล้ายงวงของช้าง ลำตัวคล้ายหมู มีขายาวหางสั้นคล้ายหมี และมีกลีบเท้าคล้ายแรด ชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบที่สำคัญเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์


สำหรับเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด มีพื้นที่ 791,847 ไร่ มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 4 เส้นทาง คือ เส้นทางเขาสามภู ใช้เวลา 5 วัน 4 คืน ขึ้นจากฝั่งพัทลุงไปลงที่ถ้ำภูผาเพชร จ.สตูล เส้นทางเขาเจ็ดยอดขึ้นทาง ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ขี้นทางฝั่งจ.พัทลุง ไปลงที่น้ำตกหนานสะตอ อ.เปรียญ จ.ตรัง เส้นทางเขาล่อนนมสาว ขึ้นทางฝั่งพัทลุงลงทางฝั่งพัทลุง และเส้นทางเขาหลัก ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ขึ้นทางฝั่งพัทลุงลงทางฝั่งพัทลุง

ขอขอบคุณ ภาพ/ข่าว เจริญชัย ช่วยชู

จุดชมวิว “ที่นี่พัทลุง”

จุดชมวิวที่นี่พัทลุง เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพัทลุง ด้วยความงามของท้องทุ่งนาที่มีภาพเบื้องหลังเป็นทิวเขาอกทะลุ ผนวกกับการสร้างจุดถ่ายภาพโดยความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองพัทลุง ทำให้เกิดความโดดเด่นและงดงามยิ่งกว่า

นอกจากการแวะมาถ่ายภาพเซลฟี่ลงโซเชี่ยลกันแล้ว อีกฝากฝั่งของถนนยังมีลำคลองเลียบทางรถไฟ ซึ่งทางเทศบาลฯได้จัดเรือไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ลงเล่นถ่ายภาพและชมรถไฟกันอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายในวันที่แอดมินไปนั้น เรือมันจม แต่ล่าสุดทางเทศบาลได้มากู้เรือขึ้นแล้ว

สำหรับการเดินทางมายังจุดชมวิว “ที่นี่พัทลุง” นั้นก็เรียกได้ว่าสะดวกมาก จากสี่แยกถนนสายเอเชียเลี้ยวเข้าตัวเมืองพัทลุง ขับตรงมาตามถนนราเมศวร์(ถนนสายหลัก) จนมาถึงทางรถไฟ เมื่อข้ามทางรถไฟให้เลี้ยวเข้าซอยแรกซ้ายมือ สังเกตป้าย จุดชมวิว “ที่นี่พัทลุง” ขับเลียบทางรถไฟเข้าไปประมาณ 1 กม. ก็จะถึงจุดชมวิว

จุดชมวิวที่นี่พัทลุง ไม่ได้มีการเก็บค่าบริการ ท่านสามารถจอดรถและลงไปถ่ายรูปได้เลย สิ่งสำคัญที่เราอยากฝากท่านคือ โปรดจงช่วยกันรักษาความสะอาด

===============================

#ที่นี่พัทลุง : บอกข่าว เล่าเรื่อง คนเมืองลุง

แคมปิ้งริมเขื่อน อ่างเก็บน้ำเขาหัวช้าง

ธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ ผนวกกับความชุ่มชื้นของหน้าฝน ทำให้เย็นสบาย เหมาะแก่การก่อกองไฟ ดื่มด่ำบรรยากาศรอบ ข้าง เมื่อถึงเวลาต้องพักผ่อน รู้สึกเย็นสบายไม่ต้องติดแอร์ แล้วอย่าหลับเพลินจนลืมตื่นมาดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเช้าที่แสนสุดจะฟิน #ใครบอกหน้าฝนเที่ยวไม่ได้ #ตะโหมด #ที่นี่พัทลุง

#การเดินทาง :
ปัก GPS เขื่อนเขาหัวช้าง แนะนำให้ใช้กระบะแบบลุยเพราะเส้นทางหลังเขื่อนค่อนข้างลำบาก มีหลุมใหญ่ ทางชันและลื่นบ้างบางจุด ยิ่งช่วงหน้าฝนต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ หรืออาจติดต่อพรานผู้ชำนาญพื้นที่

===============================
#ที่มา : นายสายฟ้า โฟโต้บัดดี้
#ที่นี่พัทลุง : บอกข่าว เล่าเรื่อง คนเมืองลุง

สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

ถนนที่ถูกขนาบข้างไปด้วยทะเลหลวงและทะเลน้อยเชื่อมต่อระหว่าง ๒ จังหวัดคือสงขลากับพัทลุง และเป็นถนนที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสุข ด้วยวิถีธรรมชาติและวิวสวย ๆ ของทะเลสุดลูกหูลูกตา วิถีชีวิตควายน้ำ และนกนานาพันธุ์ ถนนที่ว่านี้คือ “ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

เป็นเส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท โดยใช้ชื่อรหัสสายทาง พท. ๓๐๓๗ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสายทางที่สร้างตามแนวระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างถนนลูกรังกันมาก่อนแต่มีปัญหาถนนพังชำรุดง่ายและเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็ยังเป็นแนวขวางทางระบายน้ำระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวง ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นถนน (สะพาน) ที่ข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านบ้านไสกลิ้งกับบ้านหัวป่า ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ แล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการก่อสร้างนั้นได้สร้างตามแนวถนนเดิมซึ่งอยู่ระหว่างทะเลหลวงกับทะเลน้อย เริ่มต้นจากมีการสร้างเป็นถนนดินลูกรัง ถมลงไปในเขตทะเลในช่วงที่ตื้น ๆ เพื่อเชื่อมให้เป็นพื้นดินต่อกัน โดยการริเริ่มของท่านพระครูกิตติวราภรณ์ เจ้าอาวาสที่วัดป่าลิไลย์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ใช้เงินจากการทอดผ้าป่าบ้าง ทอดกฐินบ้าง ผู้ใจบุญบริจาคให้บ้าง แต่ก็ทำได้แค่ถนนลูกรังกับสะพานไม้เท่านั้น ต่อมาเมื่อนายสุรใจ ศิรินุพงศ์ ส.ส. สงขลา (ประมาณปี ๒๕๓๑) เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ใหญ่บ้านจวน ศิรินุพงศ์ คนทุ่งตะเครียะโดยกำเนิด ร่วมกับ ส.ส. พัทลุงอีก ๓ คน คือนายวีระ มุสิกพงศ์ (นายวีระกานท์) นายโอภาส รองเงิน และนายพร้อม บุญฤทธิ์ ลงนามในหนังสือเสนอรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายข่ายประจำปี ๒๕๓๑ ของบประมาณก่อสร้างถนนเชื่อม จังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสงขลาด้วยเหตุผลที่ว่า

๑) เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
๒) เป็นการพัฒนาอาชีพการประมงน้ำจืด
๓) เป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น
๔) เป็นเส้นทางที่ประชาชน ในจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล มีโอกาสนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายได้สะดวก
๕) เป็นเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกในการพัฒนาทะเลสาบสงขลาให้บรรลุเป้าหมาย

ในที่สุดก็ได้รับงบประมาณ ๑๓๕ ล้านบาท ในการก่อสร้างถนนดังกล่าวเชื่อมระหว่างบ้านหัวป่า  ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กับบ้านปากประเหนือ  ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวบ้านพากันดีใจว่าจะมีถนนใช้ไม่เกินปี ๒๕๓๒ แต่ปรากฏว่าลงมือสร้างจากบ้านปากประเหนือมาได้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ก็มีการคัดค้าน

ทำให้การดำเนินการจึงหยุดชะงักลงประมาณ ๒-๓ ปี งบประมาณดังกล่าวถูกคืนคลังไปในที่สุด

ในของการก่อสร้างถนนนั้นพระครูศาสนการโกวิท (พ่อท่านเล็ก) ชาวบ้านขาวเจ้าอาวาสวัดจาก เจ้าคณะอำเภอระโนด มาเป็นผู้นำในการดำเนินการก่อสร้าง เพราะท่านเป็นผู้มีลูกศิษย์มากมายและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านทั้ง ๒ อำเภอ คือระโนด และควนขนุน ท่านได้ประสานงานให้ประชาชนนำเครื่องจักรกล  วัสดุอุปกรณ์  เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มาพัฒนาถนนสายนี้ต่อไป ในชั้นต้นได้รับการสนับสนุนจากคนที่มีรถขุด จำนวน ๓  คน ๓ คัน เริ่มงานในปี  ๒๕๓๘-๒๕๓๙  คือนายชาติชาย (แสน)  จิระโร นายสำราญ ปล้องฉิม (ร้านอาหารปลาพูดได้บ้านใหม่) และนายชม (ไม่ทราบนามสกุล)  ชาวบ้านท่าบอน

ขุดถนนจากสี่แยกบ้านหัวป่าไปจนถึงคลองกก ต่อมาเรื่องการสร้างถนนทราบถึงพระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี กิตฺติญาโณ) เจ้าอาวาสวัดป่าลิไลย์ท่านได้ร่วมเป็นพลังโดยประสานงาน นายคณนาถ หมื่นหนู นำรถขุด ๑ คันมาเริ่มขุดทางฝั่งคลองนางเรียมทางทิศใต้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพเป็นโคลนตม พระครูศาสนการโกวิท (พ่อท่านเล็ก) 

จึงขอรับการสนับสนุนเครื่องมือจาหน่วยทหาร ช. พัน ๔๙๒  จังหวัดพัทลุง นำรถขุดมาดำเนินการจนถึงบ้านทะเลน้อย โดยท่านพระครูทั้ง ๒ รูปเป็นผู้นำในการก่อสร้าง มีประชาชนในพื้นที่สนับสนุนค่าน้ำมันค่าเบี้ยเลี้ยงพลขับและอื่น ๆ รวมทั้งนักการเมืองทั้ง ๔ ท่าน ก็ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด  ต่อมานักร้องดังภาคใต้เอกชัย ศรีวิชัย รับแสดงดนตรี ๓ จุด คืออำเภอระโนด อำเภอหัวไทร อำเภอควนขนุน เพื่อหาทุนสมทบสร้างถนน เสร็จสิ้นได้เงินประมาณ  ๑,๒๐๐,๐๐๐  บาท  สามารถสร้างถนนดินลูกรังสำเร็จ ทำให้รถยนต์สามารถใช้สัญจรไปมาได้ และในวันที่ ๓  มิถุนายน ๒๕๔๔  พระครูทั้ง ๒ ท่าน

และชาวบ้านร่วมกันจัดงานพิธีเปิดใช้ถนนสายนี้ พร้อมกับการทอดผ้าป่าสามัคคี และตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนพระ-ประชาทำ” โดยมีพระเป็นประธานในพิธีเปิดทั้ง ๒ ฝั่งจังหวัด คือฝั่งจังหวัดพัทลุง มีพระธรรมรัตนาการ  เจ้าคณะภาค ๑๘ จังหวัดตรัง เป็นผู้ตัดริบบิ้น ส่วนฝั่งจังหวัดสงขลา มีพระราชศีลสังวร เจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นประธานร่วมพิธี โดยมีพระสงฆ์ในภาคใต้จากทุกจังหวัดและจากกรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป มาร่วมในพิธี  ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายนี้ต่อ ตามโครงการภายใต้แผนบูรณาการงบประมาณพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็ได้มีการสร้างเพิ่มเติมเป็นถนนลาดยางยกระดับสูงจากระดับน้ำ ๓ เมตร ถึง ๕ เมตร  ผิวจราจรกว้าง ๑๔ เมตร ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร 

โดยให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวเฉพาะส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๕๐ ล้านบาท และใช้งบประมาณจากปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗-พ.ศ. ๒๕๔๙ ในการดำเนินก่อสร้างต่อไปอีก ๕๔๙ ล้านบาทโดยเส้นทางในช่วงที่ ๒ เป็นทางยกระดับระยะทาง ๕.๔๕๐ กิโลเมตร ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เดิมชื่อ “ถนนสายบ้านไสกลิ้ง–บ้านหัวป่า ภายหลังเปิดการใช้งานสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดพัทลุง ได้ขอความเห็นจากทุกภาคส่วนให้ร่วมเสนอชื่อถนนสายดังกล่าว เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเป็นชื่อที่ไดรับการยอมรับในการเรียกใช้ ซึ่งผลการรับฟังเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันให้ตั้งชื่อถนนใหม่เป็น “ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” เพื่อให้เหมาะสมกับปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)

บนสะพานนักท่องเที่ยวสามารถแวะจอดรถ ชมวิว ถ่ายรูปสะพาน นกน้ำ ชาวบ้านที่ออกเรือหาปลา โดยเฉพาะฝูงควายน้ำที่กำลังกินหญ้าทั้งในน้ำและทุ่งหญ้าบริเวณรอบทะเลสาบและทะเลน้อย โดยมีคลองเชื่อมต่อจากทะเลสาบกับทะเลน้อยอีกที บริเวนฝั่งทะเลสาบจะมีเนินดินเรียกว่า ทุ่งแหลมดิน เป็นพื้นที่บริเวณกว้างฝั่งทะเลสาบ ปกคลุมด้วยหญ้าเขียว เหมาะสำหรับนกชนิดต่างๆมาทำรังออกไข่ หาอาหารกินตามทุ่งหญ้า

สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี วิวที่สวยงามโดยเฉพาะช่วงดวงอาทิตย์ตกจากบนสะพาน เป็นที่โปรดปรานของใครต่อใครยิ่งนัก นอกจากนี้ ฝั่งหัวสะพานด้านทะเลน้อยยังมีการสร้างป้ายและปฏิมากรรมรูปนกให้ได้ถ่ายรูปเช็คอินกันอีกด้วย

ที่นี่พัทลุง : บอกข่าว เล่าเรื่อง คนเมืองลุง

บรรณานุกรม

….ทะเลน้อย..@..มีสะพานข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย…. (2557). สืบค้นวันที่ 11 ก.พ. 62, จาก oknation.nationtv.tv/blog/panakom/2014/05/03/entry-1
สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550. (2560). สืบค้นวันที่ 11 ก.พ. 62, จาก  review.tourismthailand.org/ phatthalung-talaynoi3/
สะพานที่ยาวและสวยที่สุดในประเทศไทย. สืบค้นวันที่ 11 ก.พ. 62, จาก youtube.com/watch?v=o0i6OsPDk5Y

นักท่องเที่ยว แห่เที่ยวพร้อมเซลฟี่จุดเช็คอินแลนด์มาร์คใหม่ กับถานีเมืองลุง

หลังจากมีมาตรการคลายล็อคผ่อนปรนเฟส4 ควบคู่ไปกับการยกเลิกเคอร์ฟิว ดีเดย์เป็นวันแรก ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวของ จ.พัทลุง กลับมาคึกคักอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัดแห่มาเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของ จ.พัทลุง กันอย่างไม่ขาดสาย พร้อมเข้าจองที่พักคิวยาวไปจนถึงสิ้นปี นอกจากนี้ก็ยังมีจุดเช็คอินแห่งใหม่ในพื้นที่เกิดขึ้นมากมาย รอนักท่องเที่ยงเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงาม


นายอรุณ ใหม่วุ่น หรือพี่หมอ อายุ 50 ปี เจ้าของถานีเมืองลุง หนุ่มใหญ่ที่มีความคิดดัดแปลงพื้นที่นาร้างกว่า 7 ไร่ ให้เป็นจุดเรียนรู้วิถีของคนเมืองลุง ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ยกยอ หาปลา แลหนังลุง มโนราห์ ตามวิถีของคนเมืองลุงแต่ก่อนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ พร้อมแวะเซลฟี่ฟรีไม่มีค่าเข้าชมแต่อย่างใด ทำให้นักท่องเที่ยว รวมไปถึงช่างภาพถ่ายพรีเวดดิ้งเข้าขอใช้สถานที่ และแวะถ่ายรูปกันอย่างไม่ขาดสาย ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จ.พัทลุงที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้


นายอรุณ หรือพี่หมอ กล่าวว่า ถานีเมืองลุงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ต้องการนำเสนอด้านศิลปะ วัฒนธรรมของจังหวัดพัทลุง ที่เป็นแก่นแท้นั่นคือวิถีของคนเมืองลุง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องข้าวปลาอาหาร ผสมผสานด้านวัฒนธรรมที่ถือเป็นหน้าตาของจังหวัดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นจุดขายของถานีเมืองลุง ที่ไม่ซ้ำแบบใครอย่างแน่นอน


นอกจากนี้ ที่ถานีเมืองลุง ยังเปิดบริการงานเลี้ยง งานสัมมนา มีอาหารสำรับแบบพื้นบ้านไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวทุกคน สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาสัมผัสการหุงข้าวหม้อดินด้วยไม้ฟืน มาแลผลาปลาเค็ม(ผลา คือพื้นที่สำหรับการถนอมอาหารแบบรมควันซึ่งอยู่เหนือเตาถ่าน) ท่ามกลางธรรมชาติกลางสระนาบัว พร้อมชมวิวเขาอกทะลุสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงไปในคราเดียวกัน.

ทะเลน้อย … ลุ่มน้ำจืดไซส์มหึมา แห่งเมืองพัทลุง

ทะเลน้อย แห่ง พัทลุง เป็นสวรรค์ของนักดูนกแล้ว คนที่ชอบชมป่า ก็ตกหลุมรักทะเลน้อยแห่งนี้ เช่นกัน…

เมื่อหลายสิบปีก่อนจังหวัดพัทลุง ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งในสมัยคอมมิวนิสต์จัดได้ว่าเป็นพื้นที่อันตรายเนื่องจากมีผู้ก่อการร้าย คอยก่อความไม่สงบไม่เว้นแต่ละวัน จังหวัดเล็กๆ แห่งนี้จึงเสมือนถูกปิดตายจากความเจริญภายนอกอยู่นานหลายปี

ทะเลน้อย … ลุ่มน้ำจืดไซส์มหึมา แห่งเมืองพัทลุง

ทะเลน้อย

กาลเวลาผ่านมานานจนคนรุ่นหลังอย่างเราๆ คงนึกภาพพัทลุงแบบในอดีตไม่ออก นอกจากความสงบเงียบตามประสาเมืองเล็กๆ ในบรรยากาศภาคใต้ของไทย แต่ในความสงบเงียบก็ซ่อนเสน่ห์อันเหลือเชื่อเอาไว้มากมาย และคุณค่าของเมืองพัทลุง ที่ธรรมชาติชดเชยให้ในสิ่งที่ขาดหายไปไม่เหมือนกับที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้เขามี

นั่นก็คือ “ทะเลน้ำจืด” อันขึ้นชื่อลือชา นามว่า “ทะเลน้อย” แห่งพัทลุงนั่นเอง

บัวแดง

ในอำเภอควนขนุน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงออกไปราว 32 กม. มีทะเลสาบขนาดใหญ่ซุ่มซ่อนอยู่เคียงคู่กับหุบเขาที่นิ่งสงบ ลำน้ำแห่งทะเลน้อยถือเป็นต้นทางของทะเลสาบสงขลา ครอบครัวนกนานาสายพันธุ์ถือเป็นเครื่องยืนยันความอุดสมบูรณ์ของธรรมชาติแห่ง ทะเลน้อยได้เป็นอย่างดีจนได้ชื่อว่าเป็นบ้านของนก โดยเฉพาะนกในกลุ่ม “นกน้ำ” หรือ “นกเป็ดน้ำ” ทว่าแต่เดิมนั้น ทะเลน้อยมีความอุดมสมบูรณ์มากจนถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มาตั้งแต่ปี 2518 และความสมบูรณ์นี้ยังได้รับการขนานามให้เป็นเขตชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก หรือ Ramsar site เพราะยังแวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าพรุ ป่าเสม็ด และทุ่งหญ้าอีกมหาศาล รวมถึงพื้นที่ทุ่งนาและป่าดิบชื้นที่เป็นทั้งแหล่งเพาะปลูก ยังชีพ และหาเลี้ยงครอบครัวของชาวบ้านนในพื้นที่ และกว้างใหญ่พอที่จะเรียกว่าเป็นทะเลน้ำจืดหรือทะเลสาบได้ หากนับรวมๆ กันไป ทะเลน้อยจะมีพื้นที่กว่า 280,000 ไร่เลยทีเดียว

นกเป็ดน้ำ

เมื่อสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ความสวยงามอย่างธรรมชาติก็ตามมา “ทะเลน้อย” นั้นนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักดูนกแล้ว คนที่ชอบชมป่า ล่องเรือเพลินๆ กลางทะเลสาบ ก็ล้วนแต่ตกหลุมรักทะเลน้อยแห่งนี้ หากเป็นช่วงที่จะล่องเรือชมบัวอย่างสวยงามที่สุด เขาแนะนำว่าเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม นั้นกำลังดี เพราะเป็นหน้าบัวสายเติบโตเต็มที่ บางครั้งบางทียังอาจจะสวยสดงดงามกว่าทะเลบัวแดงของทางฝั่งภาคอีสานซึ่งไม่มี เพื่อนร่วมทางนำเที่ยวอย่างนกกระยางหลากสายพันธุ์ นกเป็ดแดง นกอีโก้ง และฝูงนางนวลโบกปีกสะบัดพักผ่านเป็นฝูงเหมือนคณะระบำอันพริ้วไหว ขณะที่หน้าดูนกนั้นจะเริ่มต้นก่อนหน้าฤดูบัวบานเล็กน้อยคือในราวเดือน ธันวาคม และฝูงนกจะค่อยๆ เบาบางลงในเดือนเมษายนเมื่อถึงช่วงฤดูอพยพย้ายถิ่น เพื่อจะกลับมาเยี่ยมทะเลน้อยอีกครั้งในราวปลายปี นี่คือความหฤหรรษ์ในหัวใจที่นักดูนกทั้งหลายจะได้รับจากที่นี่ ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มๆ อย่างน่าภาคภูมิใจว่า “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” เป็นเครื่องยืนยันอัตตลักษณ์ของหัวใจแห่งทะเลน้อยนั่นเอง

เป็นวัฏจักรแห่งชีวิตอันงดงาม เรียบง่าย แต่สร้างสมดุลอันยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติโดยแท้

ทะเลน้อย…ร้อยลำนำ ลุ่มน้ำจืดแดนใต้

แน่นอนว่า เมื่อวันเวลาผันผ่าน หลายชีวิตในธรรมชาติก็อาจถึงคราต้องเปลี่ยนแปลง หากใครที่เคยไปทะเลน้อยเมื่อหลายปีก่อนแล้วมีโอกาสได้หวนกลับไปเยี่ยมอีก ครั้งในวันนี้ ภาพบางภาพในความทรงจำอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย พอๆ กับที่มีภาพใหม่ๆ ของวิถีชีวิตใหม่ๆ แทรกเข้ามาบ้าง นั่นคือภาพของ “ควายน้ำ” ที่ทราบมาว่าทางททท.ได้บรรจุเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการท่องเที่ยวทะเลน้อยฉบับโมเดิร์นไปเรียบร้อยแล้ว

พัทลุง

ภาพโดย คุณ psw2548

ควายน้ำแห่งทะเลน้อย แท้จริงแล้วก็คือควายบ้านที่เขาเลี้ยงกันตามท้องทุ่งนา หาใช่สัตว์ป่าสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด แต่ควายน้ำ คือพฤติกรรมการปรับตัวของควายท้องถิ่นเพื่อการหากินกับแหล่งอาหารของพวกมัน กล่าวคือ เมื่อน้ำในทะเลสาบทะเลน้อยลดต่ำไปจนถึงแห้งขอดในบางช่วงจนมีสันดอนพื้นดิน โผล่ มีทุ่งหญ้าขึ้น เจ้าควายพวกนี้มันก็จะขึ้นมาและเล็มหญ้ากินบนบก แต่เมื่อยามหน้าน้ำ ทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูง ท่วมทุ่งหญ้า ท่วมแหล่งหากินของควาย เจ้าควายพวกนี้มันก็จะปรับตัว เปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายแทน โดยมันจะพร้อมใจกันลงไปหากินภายในน้ำทำให้คนเรียกมันว่า “ควายน้ำ” ไม่เพียงเท่านั้นควาย ที่นี่ยังเก่งมากในเรื่องการว่ายน้ำ ดำน้ำ ควายแต่ละฝูงสามารถหากินได้ทั้งบนบกและในน้ำ พวกมันสามารถว่ายน้ำได้อึดนาน เพื่อเปลี่ยนจุดหากินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง โดยมีจ่าฝูงนำทางและรองจ่าฝูงปิดท้าย นับเป็นภาพควาย (ว่าย) น้ำหากินที่ดูแล้วช่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นภูมิปัญญาควายไทย

ร้อยลำนำ ลุ่มน้ำจืดแดนใต้

ภาพโดย คุณฟองสบู่

แต่ไม่ว่าจะมาเพียงเพื่อส่องนก ตกปลา ล่าสายบัว ทัวร์ทะเลสาบ หรือซึมซาบกับควายว่ายน้ำ ทุกกิจกรรมที่กล่าวมานั้น ทางทะเลน้อยเขายินดีเปิดให้เข้าชมตลอดทั้งปี แต่เนื่องด้วยธรรมชาติมีการพลิกฟื้นเติบโตหมุนเวียนในตัวมันเอง การเที่ยวชมใดๆ ก็ตามจึงอาจมีฤดูกาลของตัวเอง เช่นหน้าบัวแดงก็จะเหมาะแก่การท่องเที่ยวในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ส่วนการล่องเรือชมควายน้ำ ก็อาจต้องรอในช่วงน้ำหลากประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. หากแต่การเดินทางในช่วงนั้น ก็ขอให้ระวังเรื่องของลมมรสุมตามฤดูกาล ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะของจ.พัทลุง หากเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ ก็ขอให้เตรียมรับมือกับสภาวะน้ำท่วม น้ำหลาก ในพื้นที่

แต่หากเป็นขาลุยไปไหนไปกัน ก็ขอให้สนุกสุดมันส์กับธรรมชาติที่ “ทะเลน้อย” ได้มอบให้

พัทลุง

ภาพโดย คุณ psw2548

วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว

ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นวัดโบราณอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-1

ตามตำนาน “เพลาวัด” กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วว่า นางเลือดขาวกับพระยากุมาร เป็นผู้สร้างวัดขึ้น มีกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วให้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า “เพลาวัด”

โดยสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1492 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.1493 เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์

ตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้ว มีประวัติจารึกเรื่องราวไว้หลายตำนาน เช่น ประวัติเขียนบางแก้วของ พระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ.1482 (จ.ศ.301)

พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.1486 ส่วนทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า วัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ.1482

จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ 15-18 แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และได้รับอธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

ภายในบริเวณจัดได้พบโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ แสดงว่าบริเวณท้องที่แห่งนี้ มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และคงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย

ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งของคณะป่าแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูเสมอๆ

จนบางครั้งพวกโจรสลัดเข้ามาเผาผลาญบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้วัดเขียนบางแก้วจึงทรุดโทรมเป็นวัดร้างชั่วคราว จนเมื่อชาวพัทลุงสามารถรวมตัวกันได้จึงบูรณะวัดขึ้นอีก และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง

ในสมัยอยุธยากล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือครั้งแรก ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่าง พ.ศ.2109-2111 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะคือ เจ้าอินบุตรปะขาวสนกับ นางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน และครั้งที่ 2 สมัยพระเพทราชา พ.ศ.2242 ผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์คือ พระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง

เมื่อได้ทำการบูรณะแล้วจึงเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระ ขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ร่วมทำการบูรณะ เว้นเสียส่วยสาอากรให้ทางราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามทูลขอทุกประการ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง จนเมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

พระบรมธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28 เมตร สูง 2.63 เมตร

ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน

มุมบันไดทั้ง 2 ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม

ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง 4 (พระมหาพันธ์ ธมมนาโก สร้างไว้เมื่อ ปี 2515) ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5 ดอก 4 ใบ (ทองคำถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521)

ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดพระบรมธาตุเขียนบางแก้ว กรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา (กรมศิลปากร : 431)