ผญบ.วัย43ปีเลี้ยงอุงสร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน แถมไอเดียดีทำการตลาดผ่านทางเฟสบุ๊ค

นายสุริยัน หรือผู้ใหญ่จุ๊บ เอียดเกลี้ยง อายุ 43 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 บ้านศาลาเณร ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ใช้เวลาว่างจากการดูแลความเรียบร้อยของลูกบ้าน หันมาเลี้ยงอุง หรือชันโรงเพื่อสร้างรายได้เสริม ซึ่งตอนนี้มีแม่พันธ์อุง อยู่ประมาณ 200 รัง โดยใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบของบ้านเป็นสถานที่เลี้ยง การเลี้ยงอุงเป็นการลงทุนน้อย กำไรดี แต่คนเลี้ยงต้องมีความอดทนและใส่ใจในการเลี้ยงเป็นอย่างมาก เพราะกว่าจะเลี้ยงจนกระทั่งเก็บน้ำหวานจากอุงได้ ต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 1 ปี


นายสุริยัน ฯ เล่าว่า แรกเริ่มที่คิดจะเพาะเลี้ยงอุง หรือ ชันโรง เนื่องจากพบว่าแม่พันธ์อุง หรือชันโรง มีมากในพื้นที่ จึงได้ศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงจากยูทูป จนกระทั่งเริ่มเลี้ยงอุงมาได้ประมาณ 4 ปี ในช่วงแรกก็ประสบกับปัญหาด้านการตลาด เพราะยังไม่ค่อยมีใครสนใจและได้รับความนิยมมากนัก ผ่านไปกว่า1ปีตนจึงเริ่มมีความคิดว่า ตนเองก็เล่นเฟสบุ๊คอยู่ทุกวัน มันน่าจะใช้ประโยชน์จากเฟสบุ๊คได้บ้าง จึงตัดสินใจลองขายอุงผ่านเฟสบุ๊ค จนเป็นที่สนใจของเพื่อนๆในเฟสบุ๊ค มียอดการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนตอนนี้ตนสามารถสร้างรายได้

จากการขายอุงเดือนละประมาณ 3 หมื่นบาท และในขณะนี้ในพื้นที่ จ.พัทลุงก็เริ่มมีผู้สนใจเลี้ยงอุงเพิ่มขึ้นเกือบ 40 ราย ซึ่งสายพันธ์ของอุง หรือ ชันโรง ที่นิยมเลี้ยงกันมีทั้งหมด 37 สายพันธุ์ แต่ในส่วนของ ผญ.จุ๊บ มีอยู่ 7 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์หลังลาย หลังลายเชียงใหม่ อะบีคาร์ลิส ถ้วยดำ รุ่งอรุณ ขนเงิน สายพันธุ์นี้จะขายดีเพราะชื่อเป็นมงคล และสายพันธุ์ปากหมู สายพันธุ์นี้จะให้น้ำหวานมาก อุงที่เลี้ยงก็ไม่ดุเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ เลี้ยงง่ายและมีราคาที่สูงมาก

และนอกจากการเลี้ยงในกล่องลังไม้ อุงยังเลี้ยงได้กับทุกภาชนะที่เราดัดแปลงขึ้นมาเพื่อให้อุงเพาะพันธุ์ อย่างเช่น แกลลอนน้ำมัน เศษท่อนไม้เก่าๆ ก็ใช้ได้หมด ส่วนน้ำหวานหรือน้ำผึ้งที่ได้จากอุง ก็จะมีลักษณะพิเศษ ที่ไม่เหมือนใคร มีรสชาดหวานอมเปรี้ยว แต่จะเปรี้ยวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เลี้ยงด้วย อีกทั้งคุณสมบัติกีมีสารพัดช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มักเกิดบาดแผลแล้วหายช้า แค่นำน้ำหวานจากอุง มาใส่แผลก็จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นได้อีกด้วย

ผญ.จุ๊บฯ บอกว่าขณะนี้มีลูกค้าสนใจสั่งกันมาเป็นจำนวนมาก จนผลิตแทบไม่ทัน โดยเฉพาะน้ำหวานจากอุง หรือชันโรง ตนขายส่งอยู่ที่ขวดละ 900 บาท และนอกจากตัวแม่พันธุ์ น้ำหวานของอุงแล้ว ทุกส่วนภายในรังอุงที่เพาะพันธ์ สามารถเก็บมาขายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกสรของดอกไม้ที่อุงนำมาสร้างรังก่อนที่จะผลิตน้ำหวาน ซึ่งสามารถขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท นำมาทานกับน้ำอุ่น มีสรรพคุณช่วยบำรุงสุขภาพ ส่วนชันของอุง หลังจากคั้นเอาน้ำหวานออกจนหมด ก็สามารถนำไปสกัดทำสบู่ มีสารต้านเชื้อรา ส่งขายในกิโลกรัมละ 500 บาท แม่พันธุ์หรือที่เรียกว่าไข่นางพญาตัวละ 200 บาท รังเพาะพันธุ์พร้อมแม่พันธุ์ลังละ 700 ถึง 800บาท เรียกว่าทุกอย่างของอุงสร้างรายได้ ได้ทั้งหมดเลยทีเดียว.