ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าหัวอยู่ ในท้องที่ตำบลดอนทราย อำเภอทะเลน้อย (คืออำเภอควนขนุนปัจจุบัน) เมืองพัทลุง ได้เกิดชุมโจรขนาดใหญ่ขึ้นคณะหนึ่งมีร่งุดอนทรายเป็นหัวหน้าดำหัวแพรเป็นรองหัวหน้า (เมื่อรุ่งดอนทรายเสียชีวิตแล้วดำหัวแพรได้เป็นหัวหน้าสืบต่อมา) มีคนเกเรและนักเลงหัวไม้จากท้องถิ่นใกล้เคียง และจากหัวเมืองตรัง เมืองนครศรีธรรมราชมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก โจรกลุ่มนี้ได้ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมทั้งห้ามเสียเงินรัชชูปการรวมไปถึงภาษีอื่น ๆ อีกด้วย สร้างความหนักใจให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครองเป็นอันมาก
กรณีการเกิดชุมโจรที่ตำบลดอนทราย เมืองพัทลุง จนมีผู้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าก็มีสาเหตุจากการใช้ชีวิตโจรปราบโจรของฝ่ายบ้านเมืองนี้เอง เริ่มต้นจากนายอำเภอทะเลน้อยได้ติดต่อกำนันตำบลดอนทราย (ชื่อ สี คนทั่ว ๆ ไปเรียกสีสงคราม) ให้หาทางจับผู้ร้ายในท้องที่ส่งดำเนินคดี โดยแนะให้ติดสินบนต่อคนร้ายว่าจะไม่เอาผิดบ้าง จะตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้าง หากสามารถจับเป็นเพื่อนผู้ร้ายด้วยกันส่งให้กำนัน ผลของการปราบปรามโจรโดยวิธีนี้ทำให้โจรแตกแยกและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีการรวมตัวกันเป็นหมู่เป็นเหล่ามากยิ่งขึ้น การดำเนินการจับกุมรุ่งดอนทรายนั้น กำนันได้ติดต่อผู้ใหญ่บ้านโคกวัด ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของรุ่งดอนทราย เพราะทราบอยู่ว่าผู้ใหญ่อินติดต่อส่งเสบียงให้แก่รุ่งดอนทรายอยู่เป็นประจำ
วันที่จับกุมรุ่งดอนทรายได้นั้น ผู้ใหญ่อินได้นัดให้รุ่งดอนทรายมารับข้าวห่อที่ใกล้บ้านในสวน (หมู่ที่ 3 ตำบลควนขนุนแต่เดิมขึ้นตำบลชะมวง) และได้จัดพรรคพวกที่ล่ำสันแข็งแรง คือ นายเอียด นายช่อ นายไขดือ ร่วมไปด้วย ขณะรุ่งดอนทรายและน้องชายชื่อแจ้งกำลังนั่งรับประทานข้าวห่อ นายเอียดได้ใช้ขวานตีหัวรุ่งดอนทรายล้มลง นายไข่ดือขึ้นคร่อมมัดมือไว้ ขณะเดียวกันนายช่อก็ตีหัวเข่านายแจ้ง ผู้ใหญ่อินเข้าช่วยจับ จึงสามารถส่งตัวให้กำนันได้ทั้ง 2 คน ผลของการดำเนินคดี (คดีปล้นทรัพย์) นายรุ่งและนายแจ้งได้ให้การซัดทอดถึงนายช่อด้วย เป็นเหตุให้ทั้ง 3 คน ต้องติดคุก และทางการส่งไปจำไว้ ณ เรือนจำมณฑลที่นครศรีธรรมราช
ขณะติดคุก รุ่งดอนทรายได้ติดต่อให้ญาติจัดยาพิษไปให้และได้ลอบวางไว้ในอาหาร ทำให้นายช่อและนายแจ้งน้องชายต้องเสียชีวิตในคุกนั่นเอง หลังจากนั้นจึงได้วางแผนกับเพื่อนนักโทษชื่อนายสังหนีจากคุกได้สำเร็จ กลับมาถึงบ้านก็ตรงไปฆ่ากำนันสีสงครามตายอย่างอุกอาจ และประกาศตนเป็นหัวหน้าทำให้โจรก๊กเล็กก๊กน้อยมาร่วมด้วยทั้งหมด บรรดาลูกสมุนเรียกรุ่งดอนทรายว่าท่านขุนพัท ส่วนคนทั่วไปเรียกว่ารุ่งขุนพัทตั้งแต่นั้นมาและลูกน้องใกล้ชิดอีกหลายคนก็ตั้งตัวเป็นขุนกัน
ตั้งเป็นชุมโจรสมบูรณ์แบบ
เมื่อรุ่งดอนทรายประกาศตัวเป็นหัวหน้าแล้ว ก็ได้จัดทำปืนปลอกเงินเป็นอาวุธประจำตัวหัวหน้า การสั่งการใด ๆ หากสั่งด้วยตัวเองไม่ได้ก็จะมอบปืนไปแทนตัว ใครจะอ้างคำสั่งถ้าไม่มีปืนแสดงก็ไม่ต้องเชื่อถือ นอกจากนั้นก็ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทางใด เพราะพวกพ้องของตนจะให้ความคุ้มครองแทน นอกจากนั้นไม่ว่าจะไปปล้น ณ ท้องที่ใดให้ปฏิบัติเคร่งครัด ดังนี้
หากเจ้าทรัพย์ไม่ต่อสู้ห้ามทำร้าย
ทรัพย์สินเครื่องใช้และเครื่องแต่งตัวที่อยู่ติดตัวจะไม่ถือเอา จะเอาเฉพาะของเก็บเท่านั้น
หากเคยไปพักพิง หลบแดดหลบฝนที่บ้านใด จะให้ความคุ้มครองบ้านนั้น ใครจะรังแกไม่ได้
การให้ความคุ้มครองนั้น โจรคณะนี้ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงสามารถเพิ่มจำนวนพรรคพวกได้มาก อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เล่าว่าบิดาท่านเคยเล่าให้ฟังว่าโจรคณะนี้เก่งกล้าถึงขนาดท้ายิงกับเจ้าหน้าที่ การต่อสู้ถึงขนาดขุดสนามเพลาะสู้กัน
ชุมโจรสมัยดำหัวแพรเป็นหัวหน้า
เมื่อรุ่งดอนทรายเสียชีวิตแล้ว ดำหัวแพรได้เป็นหัวหน้าชุมโจรต่อมา สิ่งแรกที่ดำหัวแพรกระทำเพื่อให้เป็นที่เกรงขามก็คือ กำจัดหรือตามล่าผู้ที่มีส่วนในการนำเจ้าหน้าที่มาล้อมยิงรุ่งดอนทราย ได้แก่ นายช้ำน้องชายของกำนันคลิ้ง และนายยกบ้านยางแค (สำหรับนางขีดหรือหนูขีดลูกสาวกำนันคลิ้งที่เดินทางไปบอกเจ้าหน้าที่ในคืนวันเกิดเหตุนั้น ดำหัวแพรมิได้แก้แค้นเพราะรักษาสัจจะเรื่องไม่ทำร้ายผู้หญิงและเด็ก)
ต่อมาในราวต้นปี พ.ศ. 2463 พวกโจรทราบว่า นายกลับ เรืองมา ชาวบ้านหนองปลาไหล ได้ต้อนรับเจ้าหน้าที่ โดยให้รับประทานอาหารที่บ้าน ดำหัวแพรจึงนำพวกพ้องไปยังบ้านนายกลับ แต่เป็นเวลาที่นายกลับไม่อยู่บ้าน จึงได้ทำลายข้าวของ เช่น ทุบไหน้ำผึ้ง (น้ำตาลเหลว) และทุบตีคนในบ้านหวังจะให้เข็ดหลาบ
เรื่องการบุกไปบ้านนายกลับ เรืองมา นี้ มีข้อเขียนกล่าวถึงว่า พวกโจรได้ฆ่าแม่และลูกเมียนายกลับหมด รวมถึงให้เผาบ้านเสียด้วย ผู้เขียนได้พยายามสอบถามคนที่เกี่ยวข้องและรู้เรื่องนี้พอสมควร สรุปได้ว่า ไม่มีการฆ่าแม้แต่คนเดียว การเผาบ้านก็เผาเฉพาะเรือนข้าวซึ่งอยู่ห่างตัวบ้านที่พักอาศัย ผู้เขียนยังได้เคยรู้จักลูกชายของนายกลับคนหนึ่ง มีอาชีพรับราชการครูชื่อนายกลั่น ลูกชายของครูกลั่นก็เป็นนักเรียนร่วมชั้นกับผู้เขียน ยิ่งการกล่าวถึงการฆ่าแม่ เมีย ด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะดำหัวแพรมีสัจจะเรื่องไม่ฆ่าผู้หญิงและเด็ก
การไปบุกบ้านของนายกลับ เรืองมา นี้เองที่นำไปสู่จุดจบของดำหัวแพร นายกลับ เรืองมา ได้เดินทางไปยังจังหวัดสงขลา ถวายฎีกาความเดือดร้อนต่ออุปราชปักษ์ใต้ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ องค์อุปราชจึงทรงสั่งการให้นายพันตำรวจโท พระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) ผู้บังคับการตำรวจภูธร มณฑลนครศรีธรรมราช ดำเนินการปราบปรามโจรคณะนี้ให้ราบคาบ
ขุนโจรสิ้นชื่อ
ในที่สุดสายสืบรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ดำหัวแพรกับพวกรวม 3 คนมากินหวาก (กะแช่) อยู่ที่ใกล้หนองคลอด ทุ่งหัวคด (ขึ้นตำบลโตนดด้วน) เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย จ่านายสิบตำรวจสิริ แสงอุไร นายสิบตำรวจตรีนำ นาควิโรจน์ และพลตำรวจร่วง สามารถจึงได้เข้าจับกุม ทั้ง 2 ฝ่ายยิงต่อสู้กันเป็นสามารถจนหมดกระสุน จ่านายสิบตำรวจสิริเหลือกระสุนอยู่เพียงนัดเดียว จึงแกล้งทำล้มหมอบระวังอยู่ ดำหัวแพรคิดว่าถูกกระสุนที่ตนยิงจึงวิ่งปีบ (ร้องตะโกน) เข้าไปหมายจะเชือดคอด้วยพร้าลืมงอประจำตัว พอเข้าไปใกล้ก็ถูกยิงสวนถูกคางล้มลง สมุนของดำหัวแพรเข้าไปช่วยพยุง ตำรวจทั้ง 3 คนก็วิ่งหนีด้วยเป็นเวลาจวนค่ำ และไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของพวกคนร้าย
นายสีเล่าว่าผู้ที่เข้าไปช่วยพยุงดำหัวแพร คือ แจ้ง ห้วยท่อม และหมุด (จำบ้านที่อยู่ไม่ได้) คนทั้งสองช่วยกันพยุงดำหัวแพรไปถึงใกล้หนองไผ่หรือหนองขี้หมาก็ให้นอนพัก แล้วบอกจะไปหายาหาข้าวมากินกัน เมื่อกลับมาอีกครั้งก็พบดำหัวแพรแขวนคอตายอยู่ใกล้หนองไผ่นั่นเอง จึงได้ช่วยกันฝังศพไว้ ณ ที่นั้น
อีก 2 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตามไปพบก็ให้ขุดศพขึ้นมาแล้วนำไปผูกประจานไว้กับต้นตาลหน้าวัดกุฏิ ศพเน่าแล้วก็ให้เผา ณ ใกล้ ๆ ต้นตาลนั่นเอง มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ผีดำหัวแพรดุมาก กลางคืนไม่ค่อยมีใครกล้าเดินผ่าน บางทีมีคนเอาไม้เรียวไปเฆี่ยนตรงที่เผาศพและใช้ให้ผีไปเข้าสิงคน
เมื่อดำหัวแพรตายแล้ว ก็ไม่มีใครกล้าตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมโจรอีกเลย ประกอบกับพวกโจรถูกจับกุมไปดำเนินคดีจนหมดรายชื่อที่ทางการต้องการตัว กองอำนวยการปราบปรามก็เลยยุบเลิกในปลายปี พ.ศ. 2463 นั่นเอง
มีข้อเขียนและคำบอกเล่าบางเรื่องที่เห็นควรบันทึกไว้ด้วย คือ
ชื่อ ดำหัวแพร ได้ชื่อเช่นนี้เพราะเป็นคนมีผมดำสลวยงามกว่าชาวบ้านทั่วไป ตอนเป็นเด็กนิยมโพกหัวผ้าแพรสีเขียว พระมหาเล็ก ฉนทกโร วัดสุวรรณวิชัย เล่าว่าได้ทราบมาว่า ผ้าแพรนั้นเป็นแพรอย่างหนา พวกโจรมักนิยมนำติดตัวไปด้วย เพราะแพรดังกล่าวนั้นใช้คัดเลือด (บังคับให้เลือดหยุดไหล) ได้
เรื่องคณะชุมโจรที่มีเป็นจำนวนมากนั้น อะไรเป็นเครื่องจูงใจและเป็นสิ่งผูกมัดให้ร่วมมือกัน ปัญหาเรื่องนี้ได้ความว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคดีติดตัว และมีอยู่อีกไม่น้อยที่มีเป็นพรรคพวกก็เพราะไม่ต้องการเสียภาษีและเงินรัชชูปการ หัวหน้าโจรทั้งสอง คือรุ่งดอนทรายและดำหัวแพร ให้ความเป็นธรรมในการแบ่งทรัพย์ที่หามาได้ การดูแลลูกน้องมีลักษณะจัดตั้งโดยถือระบบอาวุโสและความสามารถ มีสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน คือการแบกพร้าลืมงอที่เรียกว่า แบกบังหู คือแบกให้ส่วนงอของคอพร้าคร่อมบ่าพอดี ดึงด้ามแนบตัวจนตัวพร้าขึ้นไปบังหูพอดี และที่บุคคลอื่นไม่กล้าแบกเลียนแบบนั้น นอกจากกลัวโจรแล้วยังกลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอีกด้วย นอกจากนั้นพวกโจรยังเคร่งเรื่องข้อห้ามที่มิให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยเด็ดขาด ใครไม่เชื่อจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง
เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ดำหัวแพร ที่มีข้อเขียนและคำบอกเล่ากันทั่วไปนั้น ผู้เขียนได้เคยไปดูรูปปั้นที่เขาชังกั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2497 ปรากฏว่าส่วนที่เป็นพร้าหักหายไปเสียแล้ว มีจารึกที่ฐานรูปว่า “เทพดาประจำเขาชังกั้งนี้ แปลว่า คือเกะกะ” อาจารย์เทพ บุณยประสาท อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพัทลุง เล่าว่า แต่เดิมมีป้ายแขวนไว้กับพร้าว่า “อย่าเอาอย่างอ้ายชังกั้งนี้โว้ย” ไม่เคยมีข้อความใดบ่งว่าเป็นอนุสาวรีย์ของดำหัวแพร และเล่าว่า รูปนี้แต่เดิมเจ้าคุณคณาศัยให้ปั้นพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานไว้ในถ้ำ มีปูนซีเมนต์เหลือจึงให้ปั้นเป็นรูปนักเลงหัวไม้ ตั้งไว้หน้าคุกเพื่อไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง การอ้างว่าเป็นอนุสาวรีย์โจร เป็นเรื่องว่ากันไปเอง
ยังมีรูปที่ถ้ำนางคลอด วัดคูหาสวรรค์อีกแห่งหนึ่ง มีผู้อ้างว่าเป็นรูปปั้นดำหัวแพร ขอเรียนว่า รูปดังกล่าวนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดูเหมือนชื่อพระคล้าย ได้ปั้นขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา ตอนผู้เขียนไปดูเมื่อปี 2497 ยังปั้นไม่เสร็จ และรูปที่ปั้นไว้ก็ไม่ใช่รูปที่ปรากฏในหนังสือของ ไสวย นิยมจันทร์
เครดิต : nathalenoi.com