บ่อน้ำโบราณที่ไม่เคยเหือดแห้งในวัดทะเลน้อยเป็นบ่อน้ำลี้ลับจริงหรือ

บ่อน้ำโบราณที่วัดทะเลน้อย จ.พัทลุง ตั้งอยู่ด้านหลังของอุโบสถโบราณภายในวัดทะเลน้อย แต่เดิมเป็น บ่อน้ำก่ออิฐโบราณ ปากบ่อมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ฟุต หากเณรน้อยตัวเล็กๆ นั่งที่พื้นข้างปากบ่อ ขอบบ่อจะอยู่ระดับคอของเณรพอดี สมัยก่อนเมื่อพระจะฉันข้าว พระและเณรจะใช้กาต้มน้ำจ้วงตักน้ำไปฉันที่โรงฉันได้เลยเพราะระดับน้ำในบ่ออยู่ในระยะที่จ้วงถึงได้พอดี ส่วนน้ำใช้พระก็จะใช้ต้อหมาก ต้อพร้าวตักน้ำใส่ตีบ (ปี๊บ) ที่เอาแท่งไม้มาตอกตะปูทำหูหิ้วแล้วใช้คานหาบหาบน้ำหรือหิ้วไปใส่ตุ่มใช้อาบในห้องน้ำและไว้ใช้ในกุฏิกัน รวมถึงชาวบ้านที่มาตักน้ำไปใช้ที่บ้านด้วย

🔶บ่อน้ำนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง แต่ถือเป็นมรดกของบรรพบุรุษซึ่งเราต้องรักษา เป็นบ่อน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้สร้างต้องเป็นผู้มีภูมิปัญญาชั้นเลิศ เพราะท่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เลย ผู้สร้างบ่อน้ำนี้ท่านรู้ได้อย่างไรว่าตาน้ำอยู่ตรงจุดนี้ และ เป็นจุดที่น้ำไม่เคยแห้งเหือดเลย พวกเราต้องขอขอบพระคุณท่านผู้สร้างบ่อน้ำนี้เป็นอย่างสูงที่สร้างคุณประโยชน์เกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภคให้พวกเราได้ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

🔶บ่อน้ำนี้ไม่มีใครทราบว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่ลองนึกภาพย้อนไปในสมัยโบราณก่อนที่จะใช้น้ำบ่อกัน คนสมัยนั้นอาจจะใช้น้ำจากสระ พัง คลอง หรือบ่อดินเล็กๆ ที่ขุดใช้เองกัน ส่วนบ่อน้ำแบบนี้ไม่รู้ว่าเริ่มสร้างมาใช้กันตั้งแต่สมัยใด รู้แต่ว่าเก่าแก่โบราณ แต่หากจะลองเชื่อมโยงเทียบเคียงกับประวัติการใช้บ่อน้ำที่จังหวัดสงขลา เมืองที่มีฉายาว่า “สงขลามีบ่อ” ดู ก็จะพบว่ามีหลักฐานบอกไว้ว่า คนสงขลาเริ่มใช้บ่อน้ำลักษณะคล้ายกันนี้มาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่3(ครองราชย์ พ.ศ. 2367 – 2394)

เริ่มจากคนจีนเข้ามาอยู่พร้อมนำภูมิปัญญาการจัดการน้ำมาด้วย พวกเขานิยมขุดบ่อน้ำแบบนี้ไว้ที่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคล และด้วยเหตุผลที่สงขลาอยู่ติดอ่าวไทยและทะเลสาบจึงต้องขุดบ่อหาแหล่งน้ำจืดไว้ใช้สอยกันเกือบทุกครัวเรือน และด้วยเหตุที่บ่อน้ำมีจำนวนมากนี้เองจึงทำให้ชื่อตำบลหมู่บ้านในสงขลามักใช้คำว่า “บ่อ” นำหน้า เช่น บ่อยาง บ่อดาน บ่อแดง บ่อโด บ่อใหม่ บ่อตรุ บ่อโตระ บ่อหิน บ่อทราย บ่อสระ บ่อท่อ บ่อทรัพย์ บ่อพลับ บ่อหว้า บ่อป่า บ่อเก๋ง และอีกสารพัดบ่อนั้นเอง

และวีถีเรื่องการใช้บ่อน้ำนี้ยังได้แผ่ขยายออกไปยังละแวกใกล้เคียงจนมีการใช้บ่อน้ำกันอย่างแพร่หลาย รูปร่างหน้าตาของบ่อน้ำก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามความสมัยใหม่ของกาลเวลา นี้เป็นเพียงหลักฐานส่วนหนึ่งที่พอหาได้ แต่หลักฐานดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการใช้บ่อน้ำที่ เมืองพัทลุงมีควนและดอน ( นครมีท่า ตรังมีนา สงขลามีบ่อ) หรือไม่ หรือบ่อน้ำนี้จะมีมาก่อนหน้านี้แล้ว นั้นก็ขอให้ท่านไปสันนิษฐานกันเอาเองก็แล้วกัน หรือหากใครพอมีหลักฐานเพิ่มเติมก็ขอให้มาเล่าสู่กันฟังด้วย

🔶ช่วงปรับปรุงบ่อน้ำครั้งใหญ่

กลับมาที่บ่อน้ำของเรากันต่อ ชาวชุมชนทะเลน้อยมีความผูกพันกับบ่อน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นศูนย์กลางของชุมชน ที่ชาวบ้านมักจะมาพบปะพูดคุยกันขณะมาตักน้ำจืดใสสะอาดด้วย หมาน้ำ ใส่ตีบ (ปี๊บ) ถั่ง(ถัง) หม้อเขียวหูหิ้ว ลอน (แกลลอน) จากนั้นทั้งหาบ ทั้งหิ้ว ทั้งใส่รถรุนไปดื่ม กิน ใช้กันที่บ้าน

บางคนก็มาตักน้ำด้วยตนเอง บางคนก็ซื้อน้ำจากคนที่มาตักน้ำจากบ่อแต่เช้ามืดแล้วใส่รถรุน หรือหาบน้ำไปขายตามบ้าน เช่น ตาหลบ(ผู้ริเริ่มการหาบน้ำขาย) ลุงปลอด ลุงเชื้อ น้าแหวง บ่าวเอียด และคนอื่นๆ ในราคาปี๊ปละ 50 สตางค์ แล้วขยับขึ้นมาเป็นปี๊บละ 1 -5 บาท จากนั้นก็ขายเป็นแกลลอนขนาด 15 -20 ลิตร แกลลอนละ 3 -5 บาท ใครอยากซื้อน้ำก็ตะโกนบอก กวักมือเรียกกันได้ ถือว่าคนทะเลน้อยไม่เชย เพราะมีการส่งสินค้าถึงบ้านกันตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

🔶และเมื่อใช้บ่อกันไประยะหนึ่ง ก้นบ่อจะสกปรก เพราะใบไม้ กิ่งไม้ หิน โคลน ดิน ตกตะกอนหมกหมม พระสงฆ์จึงช่วยกันทำความสะอาดบ่อ โดยการวิดน้ำออกแล้วเอาบาตรเอาผ้าอุดตาน้ำไว้ เมื่อน้ำหยุดไหลจะวิดน้ำที่เหลือออกแล้วรื้อเอาเศษสิ่งสกปรกทิ้งไป เป็นแบบนี้มานานหลายชั่วอายุคน ต่อมาได้มี การปรับปรุงบ่อน้ำครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 ต้นๆ

เพราะลักษณะเดิมของปากบ่อที่อยู่ในระดับต่ำจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือคน หมา แมวพลัดตกลงไปในบ่ออยู่เป็นประจำ อีกทั้งสิ่งสกปรกก็ตกลงไปได้ง่ายด้วย เพื่อความปลอดภัยและความสะอาด ท่านพระครูปริยัตยาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นพร้อมเณรและชาวบ้าน จึงได้ทำการรื้อบ่อ เอาอิฐโบราณออกไปเหลือแต่ส่วนที่เป็นฐานไว้แล้วหล่อท่อปูนซีเมนต์ทรงกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.60 ม. เส้นรอบวง 5 ม. ความลึกจากก้นบ่อถึงปากบ่อ 6.25 ม. กรวม (ครอบ) ลงไปบนฐานเดิม จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนระดับน้ำนั้นจะขึ้นลงตามฤดูกาล โดยปัจจุบันระดับน้ำจะลึกท่วมหัวประมาณ 2.12 ม. (วัดระดับน้ำเมื่อ 31 กรกฎาคม 2565)

🔶ด้านคติความเชื่อเกี่ยวกับบ่อน้ำนี้ มีเรื่องเล่าที่คนสมัยก่อนมักเล่าให้ฟังถึงความเก่าแก่ มนต์ขลัง และเหตุการณ์ลี้ลับยากจะพิสูจน์หลายเหตุการณ์ จนทำให้พวกเราผู้ฟังวัยเด็ก รู้สึกตื่นเต้นและขนหัวลุกกันเลยทีเดียว แต่ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงให้ผู้อ่านทราบเสียก่อนว่า เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้ถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้บางคนก็ประสบเจอเหตุการณ์ด้วยตนเอง บางคนได้ฟังต่อๆ กันมาอีกทอดหนึ่งเท่านั้น และ ❌ขอย้ำว่าการเล่าเรื่องในครั้งนี้
ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เกิดความเชื่อที่ปราศจากปัญญาและหลักเหตุผล❌ จึงขอให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วย

🔶ตัวอย่าง เรื่องลี้ลับ เกี่ยวกับบ่อน้ำที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าไว้ เช่น

◾️ในบางค่ำคืนจะมีคนเห็น พระภิกษุชราเดินออกมาจากอุโบสถโบราณมาอาบน้ำที่บ่อ เมื่อเด็กวัดเดินไปดูใกล้ๆ พระภิกษุชรารูปนั้นกลับหายไป แต่ทิ้งร่องรอยไว้คือน้ำที่ยังเปียกอยู่บนพื้นดินเท่านั้น

◾️บางครั้งก็มีคนพบ ไหสมบัติกลิ้งเคลื่อนที่ได้ พอเดินตามไป ไหนั้นจะกลิ้งไปที่บ่อน้ำหลังอุโบสถเก่าและตกหายลงในบ่อ หาเท่าไรก็ไม่เจอ

◾️บ้างก็มีคนเห็น งูเห่าเผือกมีหงอนตัวใหญ่ เลื้อยเข้า-ออกจากโพรงดินใต้ฐานพระประธานในอุโบสถหลังเก่า ดูน่าเกรงขามยิ่ง

◾️บางครั้งก็มีการใช้น้ำจากบ่อ ไปใช้ รักษาคนไข้ เมื่อคนไข้ได้ดื่มน้ำจากบ่อนี้แล้วจะหายจากความเจ็บป่วย

◾️และชาวบ้านก็ยังเชื่อกันอีกด้วยว่า ใครก็ตามที่ทำไม่ดีมา เมื่อมากินน้ำที่บ่อนี้ จะมีอันเป็นไป เช่น ชักกระตุก ตาเหลือก เป็นต้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ฝ่าฝืนมาอาบน้ำที่บ่อนี้ เพราะมีกฎว่า ห้ามผู้หญิงมาอาบน้ำที่นี้

🔶เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้ แต่มันก็ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าทำให้บ่อน้ำสกปรก และช่วยกันดูแลความสะอาดของน้ำและบ่อน้ำเรื่อยมา หรือนี้จะเป็น ❗️กุศโลบายอันแยบยล เพื่อคงผลประโยชน์ให้แก่คนทุกคนในชุมชนสืบมาก็เป็นได้ ขอให้ท่านคิดไตร่ตรองกันเอาเอง

🔶และหากท่านมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ่อน้ำที่วัดทะเลน้อยที่ท่านเคยได้รับรู้มาและอยากถ่ายทอดให้ชาวชุมชนได้รับรู้ด้วย ท่านสามารถเล่าเรื่องราวเหล่านั้นได้ที่คอมเม้น หรือส่งมาทางกล่องข้อความในเพจวัดทะเลน้อย จ.พัทลุงได้ตลอดเวลา

🔶ปัจจุบันวัดทะเลน้อยมีบ่อน้ำทั้งหมด 3 บ่อ คือ 📍บ่อที่อยู่หลังอุโบสถเก่า 📍บ่อที่อยู่ในศาลาการเปรียญ และ📍บ่อที่อยู่ข้างต้นยางใหญ่ทางทิศตะวันตกของวัด

🔶แม้เราจะไม่ได้ใช้น้ำจากบ่อน้ำเหล่านี้กันแล้ว แต่มันก็เป็นหลักฐานที่ดีซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทียดทวดโปย่าพ่อเฒ่าแม่เฒ่าของชาวทะเลน้อย~พนางตุงมีวิถีชีวิตกันอย่างไร มันทำให้พวกเราคิดถึงพวกท่านขึ้นมาจับใจ พอนึกภาพย้อนไปก็ได้แต่ ☺️อมยิ้มมีความสุข กับความผูกพันของเรากับท่านและภาพวิถีชีวิตแบบที่หาไม่ได้ในสมัยนี้

🔶พวกเราลูกหลานชาวทะเลน้อย~พนางตุงจึงขอร่วมอนุรักษ์บ่อน้ำเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้เห็นสืบไป

พระครูปลัดประสิทธิ์ ปสฏฺโฐ
เจ้าอาวาสวัดทะลเน้อย ผู้เรียบเรียง

วัดทะเลน้อย จ.พัทลุง

วัดทะเลน้อย ตั้งอยู่เลขที่ 56 บ้านทะเลน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2154 ในช่วงกลางสมัยอยุธยา ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เดิมมีนามว่า “วัดแจ้ง” หรือ ชาวชุมชน เรียกว่า “วัดล่าง” #นับว่าวัดทะเลน้อยเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของตำบลทะเลน้อยและตำบลพนางตุง

ตามตำนานเล่าว่า ชุมชนทะเลน้อยได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสลายตัวไปหลังจากมีการตัดโค่นต้นตะเคียนจำนวนมากไปต่อเรือที่บางแก้วในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้งและไฟป่าเผาผลาญ จนประชาชนต้องอพยพไปอยู่ในเขตนครศรีธรรมราช

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 100 ปี ในช่วงกลางของสมัยอยุธยา ทะเลน้อยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ประชาชนรุ่นหลาน เหลน ของประชาชนที่อพยพไปตั้งหลักแหล่งในเขตนครศรีธรรมราชจึงได้อพยพกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ทะเลน้อยตามเดิม โดยมีจุดกำเนิดของชุมชนอยู่ 2 จุดคือบริเวณวัดทะเลน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ต. ทะเลน้อย และบริเวณสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง (วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีต)

ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ต.พนางตุง ซึ่งเป็นบริเวณราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชาชนมีอาชีพหลักที่สร้างรายได้ที่ดีจนทำให้เศรษฐกิจดีและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้าง #สำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง (วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีต) ใน พ.ศ. 2118 และ #วัดทะเลน้อย ใน พ.ศ. 2154 ขึ้นมาเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนชุมชนทะเลน้อยในระยะแรกได้ในเวลาไม่นานนัก

เวลาผ่านไปชุมชนทะเลน้อยได้ค่อยๆ ขยายตัวเติบโตขึ้นตามลำดับ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็ได้สร้างวัดเพิ่มขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือ #วัดประดู่หอม (วัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์)) หรือ “วัดบน” ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ใน พ.ศ. 2256 ในช่วงปลายของสมัยอยุธยา หลังจากสร้างวัดทะเลน้อยประมาณ 102 ปี ซึ่งห่างกันไม่ถึงสองชั่วอายุคน และเป็นวัดที่น่าสนใจ


ส่วนชุมชนบริเวณสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง (วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีต) ได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ ชุมชนจึงค่อยๆ ร่วงโรยลงในระยะหลังจนเป็นผลให้ วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีตพลอยร่วงโรยลงด้วย จนเหลือเป็นเพียงสำนักสงฆ์ในปัจจุบัน ตรงข้ามกับชุมชนที่ขยายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้มีการหักร้างถางพง ทำสวน ไร่นา และอาชีพใหม่ๆ ก็ขยายตัวเจริญเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้สร้าง #วัดไทรงาม ขึ้นใน พ.ศ. 2325 และหลังจากนั้นชุมชนได้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้างวัดเพิ่มขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น #วัดพนางตุง ในหมู่ที่ 3 สร้างใน พ.ศ. 2468 #วัดธรรมสถิต ในหมู่ 3 สร้างใน พ.ศ. 2482 และ #วัดสวนธรรมเจดีย์ หมู่ที่ 6 สร้างใน พ.ศ. 2500 เป็นต้น


ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชุมชนทะเลน้อยได้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาก แต่มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ตามหลักฐานบอกว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสภาคใต้และเสด็จไปประทับที่จังหวัดพัทลุง และได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับทะเลน้อยไว้ว่า

“ ได้ฟังเสียงธรรมจากพัทลุง และสงขลา กล่าวโทษว่า แถบทะเลน้อยในแขวงเมืองนครศรีธรรมราช มีคนตั้งบ้านเรือนอยู่มากแต่เกือบจะไม่มีคนดีเลยในหมู่บ้าน เป็นคนร้ายทั้งสิ้น ด้วยเป็นชายแดนห่างจากเมืองนครศรีธรรมราชมาก การติดตามผู้ร้ายยากลำบาก”

และด้วยเหตุโจรผู้ร้ายชุกชุม ประชาชนต้องหาวิธีป้องกันตัวด้วยวิธีต่างๆ วิธีหนึ่งที่นิยมกันมาก คือ การเรียนเวทย์มนต์ทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และสำนักเวทย์มนต์อยู่ยงคงกระพันที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ #วัดเขาอ้อ ปัจจุบันตั้งอยู่ในตำบลมะกอกเหนือ ต่อมาท่านขรัวจากวัดเขาอ้อได้มาอยู่ที่วัดทะเลน้อยและได้สร้างโบสถ์ของวัดทะเลน้อยขึ้น (ปัจจุบันอายุมากกว่า 200 ปี)

และทำให้วิชาไสยศาสตร์อยู่ยงคงกระพันได้แพร่มายังชุมชนทะเลน้อยด้วย และด้วยเหตุที่การปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้ยาก ทางราชการจึงได้แยกชุมชนทะเลน้อยออกจากนครศรีธรรมราชมาขึ้นกับพัทลุงในคราวปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2439 เพื่อให้การปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้สะดวกขึ้น
ความเป็นมาของชุมชนทะเลน้อย (ตำบลทะเลน้อยและตำบลนางตุง) หลังสมัยปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2439 แล้ว

มีความเกี่ยวพันกับความเป็นมาของ อ.ควนขนุน จ. พัทลุง #อำเภอควนขนุน เดิมชื่อว่า อ.อุดร เพราะอยู่ทางส่วนเหนือของ จ.พัทลุง ที่ว่าการอำเภอก็ตั้งอยู่บนควนขนุนในปัจจุบัน ต่อมาที่ว่าการอำเภอได้ย้ายไปตั้งที่บ้านมะกอกใต้ใกล้ฝั่งแม่น้ำปากประ จึงเรียกว่า “อ.ปากประ” แต่ต่อมาในเดือนเมษายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านทะเลน้อย จึงเปลี่ยนเป็น “อ.ทะเลน้อย” จนถึง ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอขึ้นไปตั้งบนควนพนางตุง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อ.พนางตุง”

ต่อมาทางราชการเห็นว่าบริเวณนั้นไม่เหมาะสมเพราะไม่เป็นย่านกลางของอำเภอ การปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้ลำบาก ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทางการได้สั่งพระยาวิชัยประชาบาลมาปราบปรามโจรผู้ร้าย พระยาวิชัยประชาบาลได้มาตั้งค่ายที่ #วัดสุวรรณวิชัย ( #วัดท่านทอง: อยู่ทางตอนเหนือของที่ว่าการอำเภอควนขนุนปัจจุบัน)

เพื่อความสะดวกในการปราบปรามและติดต่อประสานงาน จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากควนพนางตุงไปตั้งที่ควนขนุนเดิม เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2467 และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอควนขนุน” มาจนปัจจุบัน
จากตำนานดังที่กล่าวจึงทำให้เห็นว่าวัดทะเลน้อยเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของ ต.ทะเลน้อยและ ต. พนางตุง อ. ควนขนุน จ. พัทลุง

Cr. วัดทะเลน้อย กรมการศาสนา, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3, กรุงเทพฯ โรงพิมพ์การศาสนา, 2529
ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม และ ภาณุ ธรรมสุวรรณ, “ ลักษณะทางสังคม-เศรษฐกิจการเมืองของประชาชน และโครงสร้างอำนาจชุมชนรอบอ่าวทะเลน้อย”, งานวิจัยเชิงสังคม โดยได้รับทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้, 2538

นางเลือดขาว ตำนานท้องถิ่นชาวใต้

“พระนางเลือดขาว” คาดว่าน่าจะเป็นคนละตำนานกับ “พระนางเลือดขาว มัสสุหรีแห่งลังกาวี” และ “พระนางเลือดขาว เจ้าอยู่หัว” โดยหลายๆ คน ยังมีความเชื่อว่าตำนานทั้งสามเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมีนักเขียนท่านหนึ่งได้ออกมาแยกความแตกต่าง ระหว่าง “พระนางเลือดขาว พัทลุง” “พระนางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัว” และ “พระนางเลือดขาว มัสสุหรี” เอาไว้ดังนี้

ผู้เขียนขอเล่าตำนานที่เกิดขึ้นบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา “ตำนานนางเลือดขาว” ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตำนานดังกล่าวได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาคใต้จรดแหลมมลายู แต่ละพื้นที่ก็เล่าเหมือนบ้างแตกต่างบ้าง โดยในภาคใต้ มีทั้งจังหวัดพัทลุง สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง เล่าต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นตำนานประจำท้องถิ่นไปแล้ว ตำนานนางเลือดขาวที่แพร่หลายในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้นั้น  มีปรากฏที่มาจากสองทางด้วยกัน คือ

1. ตำนานนางเลือดขาวตามที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง

“ตำนานนางเลือดขาว” ตามที่ได้ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2460 – 2461 นั้นสรุปความได้ว่า เมืองพัทลุงได้ตั้งมาก่อนปี พ.ศ.1480 เมืองตั้งอยู่ที่สทิงพระ เจ้าเมืองชื่อพระยากรงทอง ครั้งนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองสามีภรรยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลปละท่า ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา โดยตาสามโมเป็นหมอสดำ (หมอเฒ่าหรือนายกองช้าง)  มีหน้าที่เลี้ยงช้างส่งพระยากรงทองทุกปี

ต่อมา…สองตายายได้พบกุมารจากป่าไม้ไผ่เสรียง และได้พบกุมารีจากไม้ไผ่มีพรรณเลือดขาว จึงได้ชื่อว่า “นางเลือดขาว” ต่อมาทั้งกุมารและกุมารีได้แต่งงานกัน และรับมรดกเป็นนายกองช้าง จนมีกำลังขึ้นและมีผู้คนนับถือมาก ได้เรียกตำบลบ้านนั้นว่า “พระเกิด” ต่อมาทั้งสองคนได้พาสมัครพวกพวก เดินทางไปทางทิศอีสาน จากบ้านพระเกิดไปถึงบางแก้ว เห็นเป็นชัยภูมิดีก็ตั้งพักอยู่แต่นั้นมา ชาวบ้านต่างก็เรียกกุมารนั้นว่า “พระยากุมาร” โดยพระยากุมารมีอำนาจทรัพย์สมบัติและบริวารมากขึ้น ทั้งสองคนเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงได้สร้างพระพุทธรูป และอุโบสถขึ้นไว้ที่ “วัดสทิง” อำเภอเขาชัยสน สร้างถาวรวัตถุไว้ที่ “วัดเขียนบางแก้ว” คือวิหารและพระพุทธรูป พร้อมทั้งทำจารึกไว้ในแผ่นทองคำด้วย

ตั้งแต่ พ.ศ.1500 พระยากุมารกับนางเลือดขาว ยังคงพำนักอยู่ที่บางแก้ว ต่อมาทั้งสองคนได้เดินทางไปที่เมืองนครศรีธรรมราช และสร้างพระพุทธรูปไว้หลายตำบล นับแต่นั้นมาเกียรติคุณนางเลือดขาวก็รำลือไปถึงกรุงสุโขทัย “พระเจ้ากรุงสุโขทัย” โปรดให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ พร้อมนางสนมออกมารับนางเลือดขาวที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเชิญไปเป็นมเหสี ส่วนพระยากุมารก็กลับไปอยู่ที่บ้านพระเกิดตามเดิม พระเจ้ากรุงสุโขทัย เมื่อทรงทราบว่านางมีสามี และมีครรภ์ติดมา จึงไม่คิดยกขึ้นเป็นมเหสี ครั้นนางคลอดบุตรเป็นกุมาร พระเจ้ากรุงสุโขทัยก็ทรงขอบุตรไว้ชุบเลี้ยง ต่อมานางเลือดขาวได้ทูลลากลับบ้านเดิม พระองค์จึงโปรดให้จัดส่งถึงบ้านพระเกิด อยู่กินกับพระยากุมารตามเดิมจนถึงแก่กรรมทั้งสองคน ภายหลังบุตรนางเลือดขาวได้กลับมาเป็นคหบดี อยู่ที่บ้านพระเกิด เมืองพัทลุง ชาวเมืองเรียกว่า “เจ้าฟ้าคอลาย” (คอลาย = ลวดลายสักศิลปะภาคเหนือที่ปรากฏอยู่บนตัวเจ้าฟ้าคอลาย)

2. ตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน

สำหรับเรื่องราวจากชาวบ้านเกี่ยวกับ “ตำนานนางเลือดขาว” ได้กล่าวถึงสงครามในประเทศอินเดีย สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้ชาวอินเดียอพยพหนีภัยมาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู บริเวณเมืองท่าปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วข้ามแหลมมายัง อำเภอตะโหมดและอำเภอปากพะยูนของจังหวัดพัทลุง ขณะนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ชาวบ้านพระเกิด เป็นนายกองช้าง ยังไม่มีบุตร จึงเดินทางไปขอบุตรีชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตง บ้านตะโหมด นำมาเลี้ยงไว้ชื่อว่า “นางเลือดขาว” เพราะเป็นคนผิวขาวกว่าชาวพื้นเมือง ต่อมาได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่เสรี่ยง ให้ชื่อว่า “กุมาร” หรือ “เจ้าหน่อ” เมื่อทั้งสองเจริญวัย ตายายจึงให้แต่งงานกัน แล้วอพยพไปตั้งบ้านที่บางแก้ว เมื่อตายายถึงแก่กรรม ทั้งสองก็ได้นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ หลังจากนั้นทั้งสองได้สละทรัพย์ สร้างโบสถ์ วิหาร ในวัดเขียนบางแก้วและวัดสทิง เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น เช่น เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ วัดพระงาม วัดถ้ำพระพุทธที่เมืองตรัง  สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ ปัจจุบันคือ วัดเจ้าแม่ อยู่ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาว ทราบไปถึงกษัตริย์กรุงสุโขทัย จึงโปรดให้พระยาพิษณุโลกมารับนางเลือดขาว เพื่อชุบเลี้ยงเป็นมเหสี แต่นางมีครรภ์แล้ว จึงไม่ได้ยกเป็นมเหสี เมื่อนางคลอดบุตรแล้ว ทรงขอบุตรไว้ แล้วให้พระยาพิษณุโลก นำนางเลือดขาวกลับไปส่งถึงเมืองพัทลุง ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วไปก็เรียกนางว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” หรือ “นางพระยาเลือดขาว” หรือ “พระนางเลือดขาว” นางได้อยู่กินกับพระกุมารจนอายุได้ 70 ปี ทั้งสองก็ถึงแก่กรรม “เจ้าฟ้าคอลาย” ผู้เป็นบุตร ได้นำศพไปประกอบพิธี ฌาปนกิจที่บ้านพระเกิด เส้นทางที่นำศพไปจากบ้านบางแก้วถึงบ้านพระเกิด เรียกว่า ถนนนางเลือดขาว

อย่างไรก็ดี..จากเค้าเรื่องนางเลือดขาวทั้งสามตำนาน แม้จะยังมีตำนานนางเลือดขาวอีกหลายสำนวน หลายท้องถิ่น โดยสำนวนเมืองพัทลุงนับเป็นสำนวนหลักที่แพร่หลายกว้างขวางมานาน พอจะเปรียบเทียบแง่มุมระหว่างสามสำนวน เพื่อหาบทสรุปและความเข้าใจได้ว่า นางเลือดขาวคือแบบอย่างของผู้หญิงดีและมีบุญแห่งเมืองใต้ ในละแวกเครือข่ายความสัมพันธ์ทางภูมินิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปากพนัง ตรัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่พัทลุง สงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานโบราณสถาน วัตถุ และชื่อบ้านนามเมืองสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ในลักษณะตำนานปรัมปราประจำแต่ละท้องถิ่น ผูกให้เชื่อว่าน่าจะเก่าแก่สัมพันธ์ถึงยุคสร้างบ้านสร้างเมืองในบริเวณนี้ มีเรื่องราวที่สรุปไม่ได้ชัดว่าเป็นของดั้งเดิมหรือเติมแต่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับลังกาและสุโขทัย แต่สอดประสานยุคสมัยได้อย่างดี โดยเฉพาะที่เกาะลังกาวีนั้นน่าจะมีอิทธิพลจากเรื่องนางเลือดขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตรัง ปากพนัง ไปสร้างเรื่องใหม่ตามเงื่อนไขของสังคมวัฒนธรรมประเพณี ดังตารางเปรียบเทียบท้ายนี้

นางเลือดขาวมะสุหรี เป็นบุตรีของชาวไทยมุสลิมจากเกาะภูเก็ตที่ย้ายไปอยู่เกาะลังกาวีเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน เมื่อเติบโตเป็นคนเลอโฉมจนดะโต๊ะเสรีเกอร์ มรายา เจ้าเมืองลังกาวีใคร่จะได้เป็นภรรยาอีกคน แต่นางมะโฮรา ภริยาไม่ยินยอม ได้สู่ขอนางมะสุหรีให้แก่น้องชายชื่อดารุส แล้วแยกครอบครัวไปอยู่ที่หมู่บ้านมาวัต จนกระทั่งกองทัพไทยยกตีเคดาห์ (ไทรบุรี) เมืองลังกาวีถูกเกณฑ์ทัพไปช่วยรับศึกไทย โดยดารุสถูกมอบหมายให้เป็นคนนำทหารไปรบ

ทางลังกาวี มีชายชื่อดาเร็มบาง ท่องเที่ยวมาจากสุมาตราผ่านบ้าน นางมะสุหรีเชิญดื่มน้ำ แล้วสนทนาคบหาจนเป็นเพื่อนกัน นางมะโฮราซึ่งอิจฉาความงามและความดีของนางมะสุหรีรู้เข้าจึงปล่อยข่าวว่านางมะสุหรีกับดาเร็มบางคบหากันฉันชู้สาว ยุยงดะโต๊ะเสรีให้ขับไล่ดาเร็มบางไปแล้วให้ประหารนางมะสุหรีซึ่งยืนยันในความบริสุทธิ์ แต่ไม่มีใครเชื่อ สุดท้ายเมื่อประหารด้วยอาวุธอะไรไม่ได้ นางมะสุหรีจึงบอกว่ามีแต่กริชของบิดานางเท่านั้นที่สามารถฆ่านางได้ พร้อมกับอธิษฐานยืนยันความบริสุทธิ์ว่าขอให้เลือดปรากฏเป็นสีขาว และคำสาปแช่งลังกาวีเจ็ดชั่วโคตรให้มีแต่ทุกข์ยากและกันดาร ซึ่งปรากฏตามคำอธิษฐานและคำสาป หมู่บ้านมาวัตพร้อมหมู่บ้านอื่นๆ ถูกกองทัพไทยโจมตีทำลายแม้หาดทรายก็กลายเป็นสีดำ

นางมะสุหรีมีลูกชายกับดารุสคนหนึ่ง ปรากฏข่าวว่าปัจจุบันอยู่ที่ภูเก็ต
ไม่มีคำอธิบายถึงนางเลือดขาวที่บางแก้ว พัทลุง ในงานของแม่เจ้าอยู่หัว

นางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัวของชาวแม่เจ้าอยู่หัว

จากเอกสารรายงานและบทนำเสนอด้วยวาจาของหัวหน้าคณะ คือผู้ใหญ่ชลอ เอี่ยมสุทธิ์ ได้เน้นย้ำว่าไม่ได้ต้องการประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำเต็มร้อย แต่มุ่งกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยมีคณะทำงาน สัมภาษณ์ สำรวจเก็บข้อมูล ให้ชาวชุมชนช่วยกันเล่าและเขียน แล้วตรวจสอบ นำมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนหาบทสรุปแล้วร่วมกันเขียนหลายระดับ ทั้งเวทีย่อย เวทีใหญ่ จนถึงเวทีร่วมที่ถ่ายทอดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของจังหวัด ร่วมร้อยรัดผู้คนในสำนึกแห่งพี่น้องชาวชุมชนเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน อยู่ร่วมกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เอาธุระซึ่งกันและกัน แล้วช่วยกันสร้างประวัติแม่เจ้าอยู่หัวของชุมชนขึ้นใหม่เพื่อใช้กับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการสร้างความหมายโดยคนในชุมชนเอง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่คนภายนอกสร้างความหมายและยัดเยียดให้ เกิดเป็นทุนทางสังคมที่ชุมชนร่วมเรียนรู้ และลงมือ ในสิ่งที่เชื่อ ชอบ แล้วช่วยกัน เป็นพลังสามัคคีก่อความเข้มแข็งให้ชุมชน อันเป็นฐานของการร่วมกันพัฒนาชุมชนต่อไป

โดยในเบื้องต้นนอกจากบทสรุปประวัติที่ช่วยกันเขียนแล้ว ยังได้ข้อมูลเรื่องราวสานเครือข่าย “นางเลือดขาว” อย่างกว้างขวางทั่วทั้งภาคใต้ เฉพาะที่ชุมชนแม่เจ้าอยู่หัวได้เกิดเป็นกระบวนการศรัทธาและภาคภูมิใจในเครือญาติและท้องถิ่นบนฐานจรรยาบรรณที่ดีงามตามแบบอย่างนางเลือดขาว ก่อกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่การสร้างเป็นหลักสูตรท้องถิ่น การรวมพลังทอดกฐินสร้างรูปเคารพ ศาลา จารึก โดยมีทิศทางการพัฒนาต่อเป็นศูนย์เรียนรู้และการจัดงานประเพณีของชุมชนต่อไป

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าอาการคาใจของใครต่อใครว่าแม่เจ้าอยู่หัวคือใคร ที่สะสมจนเจ้าของท้องที่เองลุกขึ้นมาไขข้อข้องใจกันเอง จนเขียนเป็นประวัติฉบับชาวแม่เจ้าอยู่หัวจะมีพลังสร้างคุณูปการแก่ชุมชนได้มากถึงเพียงนี้ ยิ่งได้รับการขานรับจากชุมชนอื่นๆ ตลอดจนกระทั่ง สกว.เองยกให้เป็น 1 ใน 15 โครงการและผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2545

ข้อสังเกตส่งท้ายด้วยความชื่นชมอยากมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ผมมีสมมุติฐานว่านางเลือดขาวหลักนั้นยังน่าจะเป็นตามตำนานทางพัทลุงที่เคยเดินทางผ่านมาสร้างวัดแม่เจ้าอยู่หัว (ที่ตำบลแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) เมื่อคราวกลับจากสุโขทัย โดยงานนี้ได้นำเรื่องราวฉบับคุณกำพล จรุงวาส (ที่ไม่ทราบที่มาและต่างจากตำนานอื่นๆ-ผู้เขียน) มาประกอบตอนต้น ประมวลกับชื่อบ้านนามเมืองเรื่องเล่าในชุมชนท้องถิ่น และลำดับกษัตริย์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช (ที่ไม่ทราบที่มา-ผู้เขียน) มาแต่งต่อเติมด้วยความพยายามที่จะทำเรื่องราวและประวัติศาสตร์ให้ชัด ทั้งๆ ที่ออกตัวไว้แต่ต้นแล้วว่าไม่ได้หวังให้ได้ชัด

ข้อมูล: กรมศิลป์ / นายกฤษฏิ์ ธนกิติธรรม
ตำนานนางเลือดขาว, สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529, สถาบันทักษิณคดีศึกษา, พ.ศ. 2529 silpa-mag.com

ตำนานเขาอกทะลุ พัทลุง

ตำนานเล่าว่า ชายผู้หนึ่งชื่อนายเมือง เป็นพ่อค้าช้าง ตะแกมีเมียสองคน เมียหลวงชื่อนางศิลา และมีลูกสาวชื่อนางยี่สุ่น ส่วนเมียน้อยชื่อนางบุปผา และมีลูกชายชื่อนายชังกั้ง ลักษณะนิสัยของนายชังกั้งตรงกับชื่อคือเป็นคนเกกมะเหรก ดื้อดึง และมุทะลุ ฝ่ายเมียหลวงและเมียน้อยก็ไม่ลงรอยกัน มักทะเลาะด่าทอและตบตีกันเสมอ

วันหนึ่งนายเมืองเดินทางไปค้าขายต่างถิ่น นางยี่สุ่นลูกสาวไม่อยู่บ้านเช่นกัน นางมักอาศัยเรือสำเภาเดินทางหนีไปค้าขายถึงต่างแดน ฝ่ายนายชังกั้งนั้นก็ไม่อยู่ติดบ้าน นางบุปผา ผู้เป็นแม่ก็มิได้เป็นห่วง เพราะเอือมระอายากที่จะตักเตือนสั่งสอนลูก ภายในบ้านจึงเหลือแต่เมียหลวงและเมียน้อย ต่างก็ทำงานคนละอย่าง คือเมียหลวงนั่งทอผ้าหรือทอหูกอยู่ใต้ถุนบ้าน และเมียน้อยตำข้าวโพดโดยใช้สากตำลงไปในครก ชาวใต้เรียกการตำข้าวว่า “ซ้อมสาร”

ช่วงหนึ่งต่างเกิดปากเสียงกันอย่างรุนแรง ถึงกับบันดาลโทสะออกมาอย่างไม่ยั้งคิด นั่นคือ เมียหลวงใช้กระสวยทอผ้าซึ่งชาวใต้เรียกว่า “ตรน” ฟาดศีรษะเมียน้อยอย่างเต็มแรงจนเป็นแผลแตกเลือดไหลแดนฉาน ฝ่ายเมียน้อยก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ นางจึงใช้สากตำข้าวกระทุ้งหน้าอกเมียหลวงอย่างแรงจนอกทะลุ ในที่สุดทั้งคู่ทนความเจ็บปวดไม่ไหวถึงแก่ความตายและกลายเป็นภูเขา นั้นคือเมียหลวงเป็น “เขาอกทะลุ” ส่วนเมียน้อยเป็น “เขาหัวแตก” ซึ่งทางการเรียกว่า “เขาคูหาสวรรค์”

เครดิตภาพ khun wipark kulnirandorn


ฝ่ายนายเมืองกลับจากการค้าช้าง เมื่อพบเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเสียใจและตรอมใจ ในที่สุดก็ถึงแก่ความตายกลายเป็น “เขาเมือง หรือ เขาชัยบุรี” ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างหมอบ ฝ่ายลูกสาวเมื่อขึ้นจากเรือสำเภาและเห็นเหตุการณ์วิปโยคเช่นนั้น นางยิ่งโศกเศร้าเสียใจเลยถึงแก่ความตายเช่นกัน และกลายเป็น “เขาชัยสน” ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ศพสุดท้ายคือนายชังกั้งกลายเป็น “ภูเขาชังกั้ง หรือเขากัง” ปัจจุบันอยู่ในเขตโรงพยาบาลพัทลุง

เครดิตภาพ khun wipark kulnirandorn

ชุมโจรบ้านดอนทราย : รุ่งดอนทรายและดำหัวแพร

ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าหัวอยู่ ในท้องที่ตำบลดอนทราย อำเภอทะเลน้อย (คืออำเภอควนขนุนปัจจุบัน) เมืองพัทลุง ได้เกิดชุมโจรขนาดใหญ่ขึ้นคณะหนึ่งมีร่งุดอนทรายเป็นหัวหน้าดำหัวแพรเป็นรองหัวหน้า (เมื่อรุ่งดอนทรายเสียชีวิตแล้วดำหัวแพรได้เป็นหัวหน้าสืบต่อมา) มีคนเกเรและนักเลงหัวไม้จากท้องถิ่นใกล้เคียง และจากหัวเมืองตรัง เมืองนครศรีธรรมราชมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก โจรกลุ่มนี้ได้ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมทั้งห้ามเสียเงินรัชชูปการรวมไปถึงภาษีอื่น ๆ อีกด้วย สร้างความหนักใจให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครองเป็นอันมาก

กรณีการเกิดชุมโจรที่ตำบลดอนทราย เมืองพัทลุง จนมีผู้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าก็มีสาเหตุจากการใช้ชีวิตโจรปราบโจรของฝ่ายบ้านเมืองนี้เอง เริ่มต้นจากนายอำเภอทะเลน้อยได้ติดต่อกำนันตำบลดอนทราย (ชื่อ สี คนทั่ว ๆ ไปเรียกสีสงคราม) ให้หาทางจับผู้ร้ายในท้องที่ส่งดำเนินคดี โดยแนะให้ติดสินบนต่อคนร้ายว่าจะไม่เอาผิดบ้าง จะตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้าง หากสามารถจับเป็นเพื่อนผู้ร้ายด้วยกันส่งให้กำนัน ผลของการปราบปรามโจรโดยวิธีนี้ทำให้โจรแตกแยกและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีการรวมตัวกันเป็นหมู่เป็นเหล่ามากยิ่งขึ้น การดำเนินการจับกุมรุ่งดอนทรายนั้น กำนันได้ติดต่อผู้ใหญ่บ้านโคกวัด ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของรุ่งดอนทราย เพราะทราบอยู่ว่าผู้ใหญ่อินติดต่อส่งเสบียงให้แก่รุ่งดอนทรายอยู่เป็นประจำ

วันที่จับกุมรุ่งดอนทรายได้นั้น ผู้ใหญ่อินได้นัดให้รุ่งดอนทรายมารับข้าวห่อที่ใกล้บ้านในสวน (หมู่ที่ 3 ตำบลควนขนุนแต่เดิมขึ้นตำบลชะมวง) และได้จัดพรรคพวกที่ล่ำสันแข็งแรง คือ นายเอียด นายช่อ นายไขดือ ร่วมไปด้วย ขณะรุ่งดอนทรายและน้องชายชื่อแจ้งกำลังนั่งรับประทานข้าวห่อ นายเอียดได้ใช้ขวานตีหัวรุ่งดอนทรายล้มลง นายไข่ดือขึ้นคร่อมมัดมือไว้ ขณะเดียวกันนายช่อก็ตีหัวเข่านายแจ้ง ผู้ใหญ่อินเข้าช่วยจับ จึงสามารถส่งตัวให้กำนันได้ทั้ง 2 คน ผลของการดำเนินคดี (คดีปล้นทรัพย์) นายรุ่งและนายแจ้งได้ให้การซัดทอดถึงนายช่อด้วย เป็นเหตุให้ทั้ง 3 คน ต้องติดคุก และทางการส่งไปจำไว้ ณ เรือนจำมณฑลที่นครศรีธรรมราช

ขณะติดคุก รุ่งดอนทรายได้ติดต่อให้ญาติจัดยาพิษไปให้และได้ลอบวางไว้ในอาหาร ทำให้นายช่อและนายแจ้งน้องชายต้องเสียชีวิตในคุกนั่นเอง หลังจากนั้นจึงได้วางแผนกับเพื่อนนักโทษชื่อนายสังหนีจากคุกได้สำเร็จ กลับมาถึงบ้านก็ตรงไปฆ่ากำนันสีสงครามตายอย่างอุกอาจ และประกาศตนเป็นหัวหน้าทำให้โจรก๊กเล็กก๊กน้อยมาร่วมด้วยทั้งหมด บรรดาลูกสมุนเรียกรุ่งดอนทรายว่าท่านขุนพัท ส่วนคนทั่วไปเรียกว่ารุ่งขุนพัทตั้งแต่นั้นมาและลูกน้องใกล้ชิดอีกหลายคนก็ตั้งตัวเป็นขุนกัน

ตั้งเป็นชุมโจรสมบูรณ์แบบ

เมื่อรุ่งดอนทรายประกาศตัวเป็นหัวหน้าแล้ว ก็ได้จัดทำปืนปลอกเงินเป็นอาวุธประจำตัวหัวหน้า การสั่งการใด ๆ หากสั่งด้วยตัวเองไม่ได้ก็จะมอบปืนไปแทนตัว ใครจะอ้างคำสั่งถ้าไม่มีปืนแสดงก็ไม่ต้องเชื่อถือ นอกจากนั้นก็ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทางใด เพราะพวกพ้องของตนจะให้ความคุ้มครองแทน นอกจากนั้นไม่ว่าจะไปปล้น ณ ท้องที่ใดให้ปฏิบัติเคร่งครัด ดังนี้

หากเจ้าทรัพย์ไม่ต่อสู้ห้ามทำร้าย
ทรัพย์สินเครื่องใช้และเครื่องแต่งตัวที่อยู่ติดตัวจะไม่ถือเอา จะเอาเฉพาะของเก็บเท่านั้น
หากเคยไปพักพิง หลบแดดหลบฝนที่บ้านใด จะให้ความคุ้มครองบ้านนั้น ใครจะรังแกไม่ได้

การให้ความคุ้มครองนั้น โจรคณะนี้ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงสามารถเพิ่มจำนวนพรรคพวกได้มาก อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เล่าว่าบิดาท่านเคยเล่าให้ฟังว่าโจรคณะนี้เก่งกล้าถึงขนาดท้ายิงกับเจ้าหน้าที่ การต่อสู้ถึงขนาดขุดสนามเพลาะสู้กัน

ชุมโจรสมัยดำหัวแพรเป็นหัวหน้า

เมื่อรุ่งดอนทรายเสียชีวิตแล้ว ดำหัวแพรได้เป็นหัวหน้าชุมโจรต่อมา สิ่งแรกที่ดำหัวแพรกระทำเพื่อให้เป็นที่เกรงขามก็คือ กำจัดหรือตามล่าผู้ที่มีส่วนในการนำเจ้าหน้าที่มาล้อมยิงรุ่งดอนทราย ได้แก่ นายช้ำน้องชายของกำนันคลิ้ง และนายยกบ้านยางแค (สำหรับนางขีดหรือหนูขีดลูกสาวกำนันคลิ้งที่เดินทางไปบอกเจ้าหน้าที่ในคืนวันเกิดเหตุนั้น ดำหัวแพรมิได้แก้แค้นเพราะรักษาสัจจะเรื่องไม่ทำร้ายผู้หญิงและเด็ก)

ต่อมาในราวต้นปี พ.ศ. 2463 พวกโจรทราบว่า นายกลับ เรืองมา ชาวบ้านหนองปลาไหล ได้ต้อนรับเจ้าหน้าที่ โดยให้รับประทานอาหารที่บ้าน ดำหัวแพรจึงนำพวกพ้องไปยังบ้านนายกลับ แต่เป็นเวลาที่นายกลับไม่อยู่บ้าน จึงได้ทำลายข้าวของ เช่น ทุบไหน้ำผึ้ง (น้ำตาลเหลว) และทุบตีคนในบ้านหวังจะให้เข็ดหลาบ

เรื่องการบุกไปบ้านนายกลับ เรืองมา นี้ มีข้อเขียนกล่าวถึงว่า พวกโจรได้ฆ่าแม่และลูกเมียนายกลับหมด รวมถึงให้เผาบ้านเสียด้วย ผู้เขียนได้พยายามสอบถามคนที่เกี่ยวข้องและรู้เรื่องนี้พอสมควร สรุปได้ว่า ไม่มีการฆ่าแม้แต่คนเดียว การเผาบ้านก็เผาเฉพาะเรือนข้าวซึ่งอยู่ห่างตัวบ้านที่พักอาศัย ผู้เขียนยังได้เคยรู้จักลูกชายของนายกลับคนหนึ่ง มีอาชีพรับราชการครูชื่อนายกลั่น ลูกชายของครูกลั่นก็เป็นนักเรียนร่วมชั้นกับผู้เขียน ยิ่งการกล่าวถึงการฆ่าแม่ เมีย ด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะดำหัวแพรมีสัจจะเรื่องไม่ฆ่าผู้หญิงและเด็ก

การไปบุกบ้านของนายกลับ เรืองมา นี้เองที่นำไปสู่จุดจบของดำหัวแพร นายกลับ เรืองมา ได้เดินทางไปยังจังหวัดสงขลา ถวายฎีกาความเดือดร้อนต่ออุปราชปักษ์ใต้ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ องค์อุปราชจึงทรงสั่งการให้นายพันตำรวจโท พระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) ผู้บังคับการตำรวจภูธร มณฑลนครศรีธรรมราช ดำเนินการปราบปรามโจรคณะนี้ให้ราบคาบ

ขุนโจรสิ้นชื่อ

ในที่สุดสายสืบรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ดำหัวแพรกับพวกรวม 3 คนมากินหวาก (กะแช่) อยู่ที่ใกล้หนองคลอด ทุ่งหัวคด (ขึ้นตำบลโตนดด้วน) เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย จ่านายสิบตำรวจสิริ แสงอุไร นายสิบตำรวจตรีนำ นาควิโรจน์ และพลตำรวจร่วง สามารถจึงได้เข้าจับกุม ทั้ง 2 ฝ่ายยิงต่อสู้กันเป็นสามารถจนหมดกระสุน จ่านายสิบตำรวจสิริเหลือกระสุนอยู่เพียงนัดเดียว จึงแกล้งทำล้มหมอบระวังอยู่ ดำหัวแพรคิดว่าถูกกระสุนที่ตนยิงจึงวิ่งปีบ (ร้องตะโกน) เข้าไปหมายจะเชือดคอด้วยพร้าลืมงอประจำตัว พอเข้าไปใกล้ก็ถูกยิงสวนถูกคางล้มลง สมุนของดำหัวแพรเข้าไปช่วยพยุง ตำรวจทั้ง 3 คนก็วิ่งหนีด้วยเป็นเวลาจวนค่ำ และไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของพวกคนร้าย

นายสีเล่าว่าผู้ที่เข้าไปช่วยพยุงดำหัวแพร คือ แจ้ง ห้วยท่อม และหมุด (จำบ้านที่อยู่ไม่ได้) คนทั้งสองช่วยกันพยุงดำหัวแพรไปถึงใกล้หนองไผ่หรือหนองขี้หมาก็ให้นอนพัก แล้วบอกจะไปหายาหาข้าวมากินกัน เมื่อกลับมาอีกครั้งก็พบดำหัวแพรแขวนคอตายอยู่ใกล้หนองไผ่นั่นเอง จึงได้ช่วยกันฝังศพไว้ ณ ที่นั้น

อีก 2 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตามไปพบก็ให้ขุดศพขึ้นมาแล้วนำไปผูกประจานไว้กับต้นตาลหน้าวัดกุฏิ ศพเน่าแล้วก็ให้เผา ณ ใกล้ ๆ ต้นตาลนั่นเอง มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ผีดำหัวแพรดุมาก กลางคืนไม่ค่อยมีใครกล้าเดินผ่าน บางทีมีคนเอาไม้เรียวไปเฆี่ยนตรงที่เผาศพและใช้ให้ผีไปเข้าสิงคน

เมื่อดำหัวแพรตายแล้ว ก็ไม่มีใครกล้าตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมโจรอีกเลย ประกอบกับพวกโจรถูกจับกุมไปดำเนินคดีจนหมดรายชื่อที่ทางการต้องการตัว กองอำนวยการปราบปรามก็เลยยุบเลิกในปลายปี พ.ศ. 2463 นั่นเอง

มีข้อเขียนและคำบอกเล่าบางเรื่องที่เห็นควรบันทึกไว้ด้วย คือ

ชื่อ ดำหัวแพร ได้ชื่อเช่นนี้เพราะเป็นคนมีผมดำสลวยงามกว่าชาวบ้านทั่วไป ตอนเป็นเด็กนิยมโพกหัวผ้าแพรสีเขียว พระมหาเล็ก ฉนทกโร วัดสุวรรณวิชัย เล่าว่าได้ทราบมาว่า ผ้าแพรนั้นเป็นแพรอย่างหนา พวกโจรมักนิยมนำติดตัวไปด้วย เพราะแพรดังกล่าวนั้นใช้คัดเลือด (บังคับให้เลือดหยุดไหล) ได้


เรื่องคณะชุมโจรที่มีเป็นจำนวนมากนั้น อะไรเป็นเครื่องจูงใจและเป็นสิ่งผูกมัดให้ร่วมมือกัน ปัญหาเรื่องนี้ได้ความว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคดีติดตัว และมีอยู่อีกไม่น้อยที่มีเป็นพรรคพวกก็เพราะไม่ต้องการเสียภาษีและเงินรัชชูปการ หัวหน้าโจรทั้งสอง คือรุ่งดอนทรายและดำหัวแพร ให้ความเป็นธรรมในการแบ่งทรัพย์ที่หามาได้ การดูแลลูกน้องมีลักษณะจัดตั้งโดยถือระบบอาวุโสและความสามารถ มีสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน คือการแบกพร้าลืมงอที่เรียกว่า แบกบังหู คือแบกให้ส่วนงอของคอพร้าคร่อมบ่าพอดี ดึงด้ามแนบตัวจนตัวพร้าขึ้นไปบังหูพอดี และที่บุคคลอื่นไม่กล้าแบกเลียนแบบนั้น นอกจากกลัวโจรแล้วยังกลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอีกด้วย นอกจากนั้นพวกโจรยังเคร่งเรื่องข้อห้ามที่มิให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยเด็ดขาด ใครไม่เชื่อจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ดำหัวแพร ที่มีข้อเขียนและคำบอกเล่ากันทั่วไปนั้น ผู้เขียนได้เคยไปดูรูปปั้นที่เขาชังกั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2497 ปรากฏว่าส่วนที่เป็นพร้าหักหายไปเสียแล้ว มีจารึกที่ฐานรูปว่า “เทพดาประจำเขาชังกั้งนี้ แปลว่า คือเกะกะ” อาจารย์เทพ บุณยประสาท อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพัทลุง เล่าว่า แต่เดิมมีป้ายแขวนไว้กับพร้าว่า “อย่าเอาอย่างอ้ายชังกั้งนี้โว้ย” ไม่เคยมีข้อความใดบ่งว่าเป็นอนุสาวรีย์ของดำหัวแพร และเล่าว่า รูปนี้แต่เดิมเจ้าคุณคณาศัยให้ปั้นพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานไว้ในถ้ำ มีปูนซีเมนต์เหลือจึงให้ปั้นเป็นรูปนักเลงหัวไม้ ตั้งไว้หน้าคุกเพื่อไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง การอ้างว่าเป็นอนุสาวรีย์โจร เป็นเรื่องว่ากันไปเอง

ยังมีรูปที่ถ้ำนางคลอด วัดคูหาสวรรค์อีกแห่งหนึ่ง มีผู้อ้างว่าเป็นรูปปั้นดำหัวแพร ขอเรียนว่า รูปดังกล่าวนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดูเหมือนชื่อพระคล้าย ได้ปั้นขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา ตอนผู้เขียนไปดูเมื่อปี 2497 ยังปั้นไม่เสร็จ และรูปที่ปั้นไว้ก็ไม่ใช่รูปที่ปรากฏในหนังสือของ ไสวย นิยมจันทร์

เครดิต : nathalenoi.com

พระอาจารย์นำ ชินวโร (นำ แก้วจันทร์)

พระอาจารย์นำ ชินวโร เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนเก้า (สิงหาคม) พ.ศ.2434 ที่บ้านดอนนูด ตำบลปันแต (บ้านดอนนูดมีอาณาเขาติดต่อกับ 3 ตำบล คือ ตำบลปันแต ตำบลควนขนุน ตำบลมะกอกเหนือ) เป็นบุตรของนายเกลี้ยง นางเอียด แก้วจันทร์ มารดาได้เสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเล็กอยู่ (หลังจากคลอดบุตรหญิงคนสุดท้อง) บิดาเป็นอาจารย์ที่เก่งกล้าทางไสยศาสตร์ ดังนั้นพระอาจารย์นำ จึงได้มีโอกาสศึกษาวิชาทางไสยศาสตร์เบื้องต้นแต่เยาว์วัย นอกจากนั้น บิดายังได้นำไปฝากให้ศึกษาวิชาเวทมนตร์คาถากับพระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมากสมัยนั้น จนอายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทกับพระอาจารย์ทองเฒ่า ที่วัดเขาอ้อ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 6 พรรษา จึงลาสิกขา

แล้วได้สมรสกับนางสาวพุ่ม มีบุตรชาย หญิง ด้วยกัน 4 คนจนกระทั่ง พ.ศ.2506 พระอาจารย์นำ ได้ป่วยหนักจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ได้มีลูกศิษย์ของท่านประทับทรงหลวงพ่อที่วัดเขาอ้อ (บ้างก็ว่าท่านฝันเห็นพระอาจารย์ทองเฒ่า) บอกว่าหากจะให้หายป่วยจะต้องบวช ซึ่งท่านก็รับว่าถ้าหายป่วยแล้วจะบวชทันที ปรากฏว่าอาการป่วยของท่านก็หายเป็นปกติ ดังนั้นพระอาจารย์นำจึงได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่วัดดอนศาลา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506

และได้อยู่ในเพศบรรพชิตตลอดมาจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2519 รวมอายุได้ 85 ปี ต่อมาในปี 2520 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2520

พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ทำคุณประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญได้แก่

1. การช่วยเหลือราชการปราบปรามโจรผู้ร้าย

ในสมัยที่พระอาจารย์นำ ยังเป็นฆราวาส พ.ศ.2466 ทางมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ส่งพระยาวิชัยประชาบาล ผู้บังคับการตำรวจมณฑลนครศรีธรรมราช ไปปราบโจรผู้ร้ายในจังหวัดพัทลุง ไปตั้งกองปราบที่วัดสุวรรณวิชัย ปรากฏว่าพระอาจารย์นำ ได้เป็นกำลังสำคัญในการนำสืบจับโจรผู้ร้าย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปราบปรามครั้งนั้นมาก จนสามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายได้สงบราบคาบ

2. การสร้างวัตถุมงคล

พระอาจารย์นำ ได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้มาก ทั้งที่สร้างด้วยตัวท่านเองและสร้างร่วมกับคณาจารย์ผู้อื่นเช่น พ.ศ.2483 ร่วมมือกับพระครูสิทธิยาภิรัตน์ (เอียด) สร้างพระมหาว่าน ขาว-ดำ และพระมหายันต์ แจกให้ทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน พ.ศ.2512 ได้สร้างพระเนื้อผงผสมว่าน จำนวน 4 พิมพ์ พ.ศ.2513 สร้างพระปิดตาเนื้อชิน ตะกั่ว พ.ศ.2519 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้สร้างเหรียญรูปเหมือนพระอาจารย์นำ และพระกริ่งทักษิณ ชินวโร ซึ่งเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายของท่าน นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างตะกรุดและผ้ายันต์ไว้มากมาย วัตถุมงคลเหล่านี้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา ของประชาชนทั่วไป ในวงการพระเครื่องแสวงหากันมาก จนปัจจุบันกลายเป็นวัตถุมงคลที่หาได้ยากยิ่งอย่างหนึ่ง

3. การสร้างอุโบสถ

พระอาจารย์นำได้ดำริจะสร้างอุโบสถสำหรับวัดดอนศาลา โดยได้ปรึกษาหารือกับบรรดาศิษย์ และได้รวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธา จากการทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง จึงได้เริ่มสร้างอุโบสถตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ในการดำเนินการก่อสร้างครั้งนี้ พระอุโบสถวัดดอนศาลาสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นปีที่ท่านถึงแก่มรณภาพ

วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ วัดดอนศาลา ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ทรงเยี่ยมพระอาจารย์นำ ชินวโร และประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จฯในบริเวณวัด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” ไว้ที่หน้าบันและขอบประตูหน้าต่างอุโบสถทุกบานภายในพระอุโบสถพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าจ้างให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์และชาวจังหวัดพัทลุงเป็นอย่างยิ่ง

พระอาจารย์นำ เป็นผู้มีจิตเมตตา กรุณา มีอุเบกขา ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่พบเห็น ท่านได้ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสังคมโดยส่วนรวมมากมาย และยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ดังจะเห็นได้จาก เมื่อพระอาจารย์นำยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จและทรงเยี่ยมอาการป่วยของท่าน โปรดประทับอยู่ในกุฏินานถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์นำเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติจังหวัดพัทลุง

เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์


ดังปรากฏหลักฐานจากการค้นพบขวานหินขัดในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอในสมัยศรีวิชัย ( พุทธศตวรรษที่ 13 –14 ) บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมชนที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียในด้านพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีหลักฐานค้นพบ เช่นพระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากเป็นรูปพระโพธิสัตว์ รูปเทวดาโดยค้นพบ บริเวณถ้ำคูหาสวรรค์ และถ้ำเขาอกทะลุ

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองพัทลุงได้ตั้งขึ้นอย่างมั่นคงภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา ในสมัย พระบรมไตรโลกนาถ ได้ปรากฏชื่อเมืองพัทลุง ในกฎหมายพระอัยการนาทหารหัวเมือง พ.ศ.1998 ระบุว่าเมืองพัทลุง

มีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี ซึ่งนับได้ว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ ที่ตั้งเมืองพัทลุงในระยะเริ่มแรกนั้น

เชื่อกันว่า ตั้งอยู่ที่เมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน มักจะประสบปัญหาโดนโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโจรสลัดราแจะอารูและอุยงคตนะ ได้เข้าปล้นสดมภ์โจมตีเผาทำลายเมืองอยู่เนืองๆ ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ด๊ะโต๊ะโมกอล ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองสาเลห์ บริเวณหมู่เกาะชวา ซึ่งเป็น

ต้นตระกูลของสุลต่านสุไลมาน แห่งเมืองสงขลาได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขาย ณ หัวเขาแดง แล้วตั้งประชาคมมุสลิมขึ้น ตรงนั้นอย่างสงบ ไม่มีการขัดแย้งกับชาวเมืองที่อยู่มาก่อน ปักหลักอยู่ยาวนานจนมีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่มากขึ้น ในที่สุดก็พัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองท่าปลอดภาษี มีเรือสำเภาแวะเข้ามาซื้อ

บทบาทของดะโต๊ะโมกอลได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรศรีอยุธยาด้วยดี พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ

แต่งตั้งเป็น “ข้าหลวงใหญ่” ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาคือท่านสุไลมานบุตรชายคนโต มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษา ความสงบของพื้นที่ตั้งแต่ตอนล่างของนครศรีธรรมราช มาจดเขตปัตตานี ครอบคลุมครึ่งล่างของเมืองตรัง ปะเหลียน พัทลุง และสงขลา

นอกจากนี้ก็ต้องเก็บส่วยสาอากรส่งถวายพระเจ้าแผ่นดินที่กรุงศรีอยุธยา ท่านสุไลมานก็ได้ทำ หน้าที่นี้เรียบร้อยด้วยดีมาตลอด ต่อมาได้ย้ายเมืองสงขลาจากสทิงพระมายังหัวเขาแดงซึ่งมีชัยภูมิป้องกันตนเอง ในสมัยสุลต่านสุไลมาน บุตรของดะโต๊ะโมกอล ได้ส่ง ฟาริซีน้องชายซึ่งเป็นปลัดเมืองมาสร้างเมืองใหม่ที่ได้ดีกว่า

ขาชัยบุรี เพื่อป้องกันศัตรูที่จะมาโจมตีเมืองสงขลาทางบก ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุง และ ได้ย้ายเมืองพัทลุงออกจากเมืองสงขลาตั้งแต่นั้น และตั้งเมืองอยู่ที่เขาชัยบุรีตลอดมาจนกระทั่งสิ้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อ ปี พ.ศ.2310

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้งและได้ยกขึ้นเป็นเมืองชั้นโทใน

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำที่มีความสำคัญในการสร้างความ เจริญและความมั่นคงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน อาทิ พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว)


พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทร์โรจน์วงศ์) ส่วนประชาชนชาวเมืองพัทลุงก็ได้มีบทบาทในการร่วมมือกับผู้นำ ต่อสู้ ป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น เมื่อสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2328 – 2329) พม่าจัดกองทัพใหญ่ 9 ทัพ 1 ใน 9 ทัพ มีเกงหวุ่นแมงยีเป็นแม่ทัพ ยกลงมาตีทางใต้ ตีได้เมืองกระบุรี ระนอง ชุมพร ไชยา และนครศรีธรรมราช


ตามลำดับ ขณะที่กำลังจัดไพร่พลอยู่ที่นครศรีธรรมราช เพื่อจะยกมาตีเมืองพัทลุงและสงขลานั้น พระยาพัทลุงโดยความ

ร่วมมือจากพระมหาช่วยแห่งวัดป่าลิไลยก์ ได้รวบรวมชาวพัทลุงประมาณ 1,000 คน ยกออกไปตั้งขัดตาทัพที่คลอง ท่าเสม็ด จนกระทั่งทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงยกกองทัพมาช่วย หัวเมืองปักษ์ใต้ ตีทัพพม่าแตกหนีไป พระมหาช่วยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วแต่งตั้งเป็นพระยาทุกขราษฎร์


ช่วยราชการเมืองพัทลุง นอกจากสงครามกับพม่าแล้วชาวพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ของประเทศชาติในหัวเมืองภาคใต้ เพราะปรากฏอยู่เสมอว่าทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุง พร้อมด้วย


เสบียงอาหารไปทำสงครามปราบปรามกบฏในหัวเมืองมลายูเช่น กบฏไทรบุรี พ.ศ.2373 และพ.ศ.2381 ซึ่งบทบาท


ดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุง ทางด้านการเมือง การปกครองในอดีตเป็นอย่างดี ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2437

และได้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2439 ประกอบด้วยเมืองต่างๆ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง 7 ที่เป็นเมืองปัตตานีเดิม สำหรับเมืองพัทลุงแบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ

คือ อำเภอกลางเมือง อำเภออุดร อำเภอทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ จนกระทั่ง พ.ศ. 2467 พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพัทลุงมาอยู่ที่ตำบลคูหาสวรรค์ในปัจจุบัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้


เส้นทางรถไฟ และสะดวกในด้านติดต่อกับเมืองต่างๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน เมืองพัทลุงได้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง

สถานที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงมาแล้ว ได้แก่

โคกเมืองแก้ว ปัจจุบัน หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน

บ้านควนแร่ ปัจจุบัน หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง

เขาชัยบุรี(เขาเมือง) ปัจจุบัน เขต 3 ตำบล คือตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง

ท่าเสม็ด ปัจจุบัน ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

เมืองพระรถ ปัจจุบัน หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง

บ้านควนมะพร้าว ปัจจุบัน หมู่ที่ 2 ตำบลพญาขัน อ.เมืองพัทลุง

บ้านม่วง ปัจจุบัน หมู่ที่ 6 ตำบลพญาขัน อ.เมืองพัทลุง

บ้านโคกสูง ปัจจุบัน หมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อ.เมืองพัทลุง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ ได้ยกเลิกการปกครอง

นอกจากด้านการเมืองการปกครองแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม

เมืองพัทลุงเคยมีชื่อเสียงในการละเล่นพื้นเมือง คือหนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า ส่วนด้านศาสนา ได้มีการทะนุบำรุง พระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต มีการพระราชทานพื้นที่พระกัลปานา วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง วัดพะโค๊ะ เพื่อบำรุงรักษา
วัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา

ชื่อเมืองพัทลุง


ในสมัยก่อนชื่อเมืองพัทลุง ไม่ได้เขียนอย่างที่ปรากฏให้เห็นจากหลักฐานพบว่าบนเหรียญอีแปะพัทลุง
พ.ศ. 2426 เขียนว่า พัททะลุง และพัตลุง ในเอกสารของไทย ใช้ต่างกันมากมายได้แก่ พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุง พัตทลุง พัฒลุง พัทลุง ในเอกสารเบอร์นีของอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนว่า Bondelun และ Merdelong ของ

นายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า Bourdelun ความหมายของชื่อเมือง หมายถึงเมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้างซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ คำว่า “พัต-พัท-พัทธ” ยังไม่อาจ


ทราบได้ว่าคำเดิมเขียนอย่างไร คำไหน ทราบเพียงว่าใช้เป็นคำขึ้นต้น ส่วนคำพื้นเมืองที่เรียกว่า“ตะลุง”แปลว่าเสา


ล่ามช้างหรือไม้หลักผูกช้างชื่อบ้านนามเมืองของพัทลุงที่เกี่ยวกับช้างมีมากหรือจะเรียกว่าเป็น“เมืองช้าง”ก็ได้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบชะรัดซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด มีช้างป่าชุกชุม และใน ตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโม ยายเพชรเป็นหมอสดำหมอเฒ่านายกองช้าง เลี้ยงช้าง ส่งเจ้าพระยากรุงทองทุกปี ต่อมาพระกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้างส่งส่วย

ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนยังคงนับถือ “ตาหมอช้าง”

ที่มา http://www.phatthalung.go.th/old/history.php