วัดทะเลน้อย ตั้งอยู่เลขที่ 56 บ้านทะเลน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2154 ในช่วงกลางสมัยอยุธยา ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เดิมมีนามว่า “วัดแจ้ง” หรือ ชาวชุมชน เรียกว่า “วัดล่าง” #นับว่าวัดทะเลน้อยเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของตำบลทะเลน้อยและตำบลพนางตุง
ตามตำนานเล่าว่า ชุมชนทะเลน้อยได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสลายตัวไปหลังจากมีการตัดโค่นต้นตะเคียนจำนวนมากไปต่อเรือที่บางแก้วในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้งและไฟป่าเผาผลาญ จนประชาชนต้องอพยพไปอยู่ในเขตนครศรีธรรมราช
เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 100 ปี ในช่วงกลางของสมัยอยุธยา ทะเลน้อยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ประชาชนรุ่นหลาน เหลน ของประชาชนที่อพยพไปตั้งหลักแหล่งในเขตนครศรีธรรมราชจึงได้อพยพกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ทะเลน้อยตามเดิม โดยมีจุดกำเนิดของชุมชนอยู่ 2 จุดคือบริเวณวัดทะเลน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ต. ทะเลน้อย และบริเวณสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง (วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีต)
ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ต.พนางตุง ซึ่งเป็นบริเวณราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชาชนมีอาชีพหลักที่สร้างรายได้ที่ดีจนทำให้เศรษฐกิจดีและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้าง #สำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง (วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีต) ใน พ.ศ. 2118 และ #วัดทะเลน้อย ใน พ.ศ. 2154 ขึ้นมาเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนชุมชนทะเลน้อยในระยะแรกได้ในเวลาไม่นานนัก
เวลาผ่านไปชุมชนทะเลน้อยได้ค่อยๆ ขยายตัวเติบโตขึ้นตามลำดับ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็ได้สร้างวัดเพิ่มขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือ #วัดประดู่หอม (วัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์)) หรือ “วัดบน” ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ใน พ.ศ. 2256 ในช่วงปลายของสมัยอยุธยา หลังจากสร้างวัดทะเลน้อยประมาณ 102 ปี ซึ่งห่างกันไม่ถึงสองชั่วอายุคน และเป็นวัดที่น่าสนใจ
ส่วนชุมชนบริเวณสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง (วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีต) ได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ ชุมชนจึงค่อยๆ ร่วงโรยลงในระยะหลังจนเป็นผลให้ วัดชายคลองหรือวัดหัวประดู่ในอดีตพลอยร่วงโรยลงด้วย จนเหลือเป็นเพียงสำนักสงฆ์ในปัจจุบัน ตรงข้ามกับชุมชนที่ขยายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้มีการหักร้างถางพง ทำสวน ไร่นา และอาชีพใหม่ๆ ก็ขยายตัวเจริญเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้สร้าง #วัดไทรงาม ขึ้นใน พ.ศ. 2325 และหลังจากนั้นชุมชนได้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้างวัดเพิ่มขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น #วัดพนางตุง ในหมู่ที่ 3 สร้างใน พ.ศ. 2468 #วัดธรรมสถิต ในหมู่ 3 สร้างใน พ.ศ. 2482 และ #วัดสวนธรรมเจดีย์ หมู่ที่ 6 สร้างใน พ.ศ. 2500 เป็นต้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชุมชนทะเลน้อยได้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาก แต่มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ตามหลักฐานบอกว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสภาคใต้และเสด็จไปประทับที่จังหวัดพัทลุง และได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับทะเลน้อยไว้ว่า
“ ได้ฟังเสียงธรรมจากพัทลุง และสงขลา กล่าวโทษว่า แถบทะเลน้อยในแขวงเมืองนครศรีธรรมราช มีคนตั้งบ้านเรือนอยู่มากแต่เกือบจะไม่มีคนดีเลยในหมู่บ้าน เป็นคนร้ายทั้งสิ้น ด้วยเป็นชายแดนห่างจากเมืองนครศรีธรรมราชมาก การติดตามผู้ร้ายยากลำบาก”
และด้วยเหตุโจรผู้ร้ายชุกชุม ประชาชนต้องหาวิธีป้องกันตัวด้วยวิธีต่างๆ วิธีหนึ่งที่นิยมกันมาก คือ การเรียนเวทย์มนต์ทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และสำนักเวทย์มนต์อยู่ยงคงกระพันที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ #วัดเขาอ้อ ปัจจุบันตั้งอยู่ในตำบลมะกอกเหนือ ต่อมาท่านขรัวจากวัดเขาอ้อได้มาอยู่ที่วัดทะเลน้อยและได้สร้างโบสถ์ของวัดทะเลน้อยขึ้น (ปัจจุบันอายุมากกว่า 200 ปี)
และทำให้วิชาไสยศาสตร์อยู่ยงคงกระพันได้แพร่มายังชุมชนทะเลน้อยด้วย และด้วยเหตุที่การปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้ยาก ทางราชการจึงได้แยกชุมชนทะเลน้อยออกจากนครศรีธรรมราชมาขึ้นกับพัทลุงในคราวปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2439 เพื่อให้การปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้สะดวกขึ้น
ความเป็นมาของชุมชนทะเลน้อย (ตำบลทะเลน้อยและตำบลนางตุง) หลังสมัยปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2439 แล้ว
มีความเกี่ยวพันกับความเป็นมาของ อ.ควนขนุน จ. พัทลุง #อำเภอควนขนุน เดิมชื่อว่า อ.อุดร เพราะอยู่ทางส่วนเหนือของ จ.พัทลุง ที่ว่าการอำเภอก็ตั้งอยู่บนควนขนุนในปัจจุบัน ต่อมาที่ว่าการอำเภอได้ย้ายไปตั้งที่บ้านมะกอกใต้ใกล้ฝั่งแม่น้ำปากประ จึงเรียกว่า “อ.ปากประ” แต่ต่อมาในเดือนเมษายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านทะเลน้อย จึงเปลี่ยนเป็น “อ.ทะเลน้อย” จนถึง ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอขึ้นไปตั้งบนควนพนางตุง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อ.พนางตุง”
ต่อมาทางราชการเห็นว่าบริเวณนั้นไม่เหมาะสมเพราะไม่เป็นย่านกลางของอำเภอ การปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้ลำบาก ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทางการได้สั่งพระยาวิชัยประชาบาลมาปราบปรามโจรผู้ร้าย พระยาวิชัยประชาบาลได้มาตั้งค่ายที่ #วัดสุวรรณวิชัย ( #วัดท่านทอง: อยู่ทางตอนเหนือของที่ว่าการอำเภอควนขนุนปัจจุบัน)
เพื่อความสะดวกในการปราบปรามและติดต่อประสานงาน จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากควนพนางตุงไปตั้งที่ควนขนุนเดิม เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2467 และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอควนขนุน” มาจนปัจจุบัน
จากตำนานดังที่กล่าวจึงทำให้เห็นว่าวัดทะเลน้อยเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของ ต.ทะเลน้อยและ ต. พนางตุง อ. ควนขนุน จ. พัทลุง
Cr. วัดทะเลน้อย กรมการศาสนา, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3, กรุงเทพฯ โรงพิมพ์การศาสนา, 2529
ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม และ ภาณุ ธรรมสุวรรณ, “ ลักษณะทางสังคม-เศรษฐกิจการเมืองของประชาชน และโครงสร้างอำนาจชุมชนรอบอ่าวทะเลน้อย”, งานวิจัยเชิงสังคม โดยได้รับทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้, 2538