ทะเลน้อย … ลุ่มน้ำจืดไซส์มหึมา แห่งเมืองพัทลุง

ทะเลน้อย แห่ง พัทลุง เป็นสวรรค์ของนักดูนกแล้ว คนที่ชอบชมป่า ก็ตกหลุมรักทะเลน้อยแห่งนี้ เช่นกัน…

เมื่อหลายสิบปีก่อนจังหวัดพัทลุง ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งในสมัยคอมมิวนิสต์จัดได้ว่าเป็นพื้นที่อันตรายเนื่องจากมีผู้ก่อการร้าย คอยก่อความไม่สงบไม่เว้นแต่ละวัน จังหวัดเล็กๆ แห่งนี้จึงเสมือนถูกปิดตายจากความเจริญภายนอกอยู่นานหลายปี

ทะเลน้อย … ลุ่มน้ำจืดไซส์มหึมา แห่งเมืองพัทลุง

ทะเลน้อย

กาลเวลาผ่านมานานจนคนรุ่นหลังอย่างเราๆ คงนึกภาพพัทลุงแบบในอดีตไม่ออก นอกจากความสงบเงียบตามประสาเมืองเล็กๆ ในบรรยากาศภาคใต้ของไทย แต่ในความสงบเงียบก็ซ่อนเสน่ห์อันเหลือเชื่อเอาไว้มากมาย และคุณค่าของเมืองพัทลุง ที่ธรรมชาติชดเชยให้ในสิ่งที่ขาดหายไปไม่เหมือนกับที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้เขามี

นั่นก็คือ “ทะเลน้ำจืด” อันขึ้นชื่อลือชา นามว่า “ทะเลน้อย” แห่งพัทลุงนั่นเอง

บัวแดง

ในอำเภอควนขนุน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงออกไปราว 32 กม. มีทะเลสาบขนาดใหญ่ซุ่มซ่อนอยู่เคียงคู่กับหุบเขาที่นิ่งสงบ ลำน้ำแห่งทะเลน้อยถือเป็นต้นทางของทะเลสาบสงขลา ครอบครัวนกนานาสายพันธุ์ถือเป็นเครื่องยืนยันความอุดสมบูรณ์ของธรรมชาติแห่ง ทะเลน้อยได้เป็นอย่างดีจนได้ชื่อว่าเป็นบ้านของนก โดยเฉพาะนกในกลุ่ม “นกน้ำ” หรือ “นกเป็ดน้ำ” ทว่าแต่เดิมนั้น ทะเลน้อยมีความอุดมสมบูรณ์มากจนถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มาตั้งแต่ปี 2518 และความสมบูรณ์นี้ยังได้รับการขนานามให้เป็นเขตชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก หรือ Ramsar site เพราะยังแวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าพรุ ป่าเสม็ด และทุ่งหญ้าอีกมหาศาล รวมถึงพื้นที่ทุ่งนาและป่าดิบชื้นที่เป็นทั้งแหล่งเพาะปลูก ยังชีพ และหาเลี้ยงครอบครัวของชาวบ้านนในพื้นที่ และกว้างใหญ่พอที่จะเรียกว่าเป็นทะเลน้ำจืดหรือทะเลสาบได้ หากนับรวมๆ กันไป ทะเลน้อยจะมีพื้นที่กว่า 280,000 ไร่เลยทีเดียว

นกเป็ดน้ำ

เมื่อสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ความสวยงามอย่างธรรมชาติก็ตามมา “ทะเลน้อย” นั้นนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักดูนกแล้ว คนที่ชอบชมป่า ล่องเรือเพลินๆ กลางทะเลสาบ ก็ล้วนแต่ตกหลุมรักทะเลน้อยแห่งนี้ หากเป็นช่วงที่จะล่องเรือชมบัวอย่างสวยงามที่สุด เขาแนะนำว่าเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม นั้นกำลังดี เพราะเป็นหน้าบัวสายเติบโตเต็มที่ บางครั้งบางทียังอาจจะสวยสดงดงามกว่าทะเลบัวแดงของทางฝั่งภาคอีสานซึ่งไม่มี เพื่อนร่วมทางนำเที่ยวอย่างนกกระยางหลากสายพันธุ์ นกเป็ดแดง นกอีโก้ง และฝูงนางนวลโบกปีกสะบัดพักผ่านเป็นฝูงเหมือนคณะระบำอันพริ้วไหว ขณะที่หน้าดูนกนั้นจะเริ่มต้นก่อนหน้าฤดูบัวบานเล็กน้อยคือในราวเดือน ธันวาคม และฝูงนกจะค่อยๆ เบาบางลงในเดือนเมษายนเมื่อถึงช่วงฤดูอพยพย้ายถิ่น เพื่อจะกลับมาเยี่ยมทะเลน้อยอีกครั้งในราวปลายปี นี่คือความหฤหรรษ์ในหัวใจที่นักดูนกทั้งหลายจะได้รับจากที่นี่ ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มๆ อย่างน่าภาคภูมิใจว่า “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” เป็นเครื่องยืนยันอัตตลักษณ์ของหัวใจแห่งทะเลน้อยนั่นเอง

เป็นวัฏจักรแห่งชีวิตอันงดงาม เรียบง่าย แต่สร้างสมดุลอันยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติโดยแท้

ทะเลน้อย…ร้อยลำนำ ลุ่มน้ำจืดแดนใต้

แน่นอนว่า เมื่อวันเวลาผันผ่าน หลายชีวิตในธรรมชาติก็อาจถึงคราต้องเปลี่ยนแปลง หากใครที่เคยไปทะเลน้อยเมื่อหลายปีก่อนแล้วมีโอกาสได้หวนกลับไปเยี่ยมอีก ครั้งในวันนี้ ภาพบางภาพในความทรงจำอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย พอๆ กับที่มีภาพใหม่ๆ ของวิถีชีวิตใหม่ๆ แทรกเข้ามาบ้าง นั่นคือภาพของ “ควายน้ำ” ที่ทราบมาว่าทางททท.ได้บรรจุเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการท่องเที่ยวทะเลน้อยฉบับโมเดิร์นไปเรียบร้อยแล้ว

พัทลุง

ภาพโดย คุณ psw2548

ควายน้ำแห่งทะเลน้อย แท้จริงแล้วก็คือควายบ้านที่เขาเลี้ยงกันตามท้องทุ่งนา หาใช่สัตว์ป่าสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด แต่ควายน้ำ คือพฤติกรรมการปรับตัวของควายท้องถิ่นเพื่อการหากินกับแหล่งอาหารของพวกมัน กล่าวคือ เมื่อน้ำในทะเลสาบทะเลน้อยลดต่ำไปจนถึงแห้งขอดในบางช่วงจนมีสันดอนพื้นดิน โผล่ มีทุ่งหญ้าขึ้น เจ้าควายพวกนี้มันก็จะขึ้นมาและเล็มหญ้ากินบนบก แต่เมื่อยามหน้าน้ำ ทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูง ท่วมทุ่งหญ้า ท่วมแหล่งหากินของควาย เจ้าควายพวกนี้มันก็จะปรับตัว เปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายแทน โดยมันจะพร้อมใจกันลงไปหากินภายในน้ำทำให้คนเรียกมันว่า “ควายน้ำ” ไม่เพียงเท่านั้นควาย ที่นี่ยังเก่งมากในเรื่องการว่ายน้ำ ดำน้ำ ควายแต่ละฝูงสามารถหากินได้ทั้งบนบกและในน้ำ พวกมันสามารถว่ายน้ำได้อึดนาน เพื่อเปลี่ยนจุดหากินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง โดยมีจ่าฝูงนำทางและรองจ่าฝูงปิดท้าย นับเป็นภาพควาย (ว่าย) น้ำหากินที่ดูแล้วช่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นภูมิปัญญาควายไทย

ร้อยลำนำ ลุ่มน้ำจืดแดนใต้

ภาพโดย คุณฟองสบู่

แต่ไม่ว่าจะมาเพียงเพื่อส่องนก ตกปลา ล่าสายบัว ทัวร์ทะเลสาบ หรือซึมซาบกับควายว่ายน้ำ ทุกกิจกรรมที่กล่าวมานั้น ทางทะเลน้อยเขายินดีเปิดให้เข้าชมตลอดทั้งปี แต่เนื่องด้วยธรรมชาติมีการพลิกฟื้นเติบโตหมุนเวียนในตัวมันเอง การเที่ยวชมใดๆ ก็ตามจึงอาจมีฤดูกาลของตัวเอง เช่นหน้าบัวแดงก็จะเหมาะแก่การท่องเที่ยวในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ส่วนการล่องเรือชมควายน้ำ ก็อาจต้องรอในช่วงน้ำหลากประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. หากแต่การเดินทางในช่วงนั้น ก็ขอให้ระวังเรื่องของลมมรสุมตามฤดูกาล ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะของจ.พัทลุง หากเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ ก็ขอให้เตรียมรับมือกับสภาวะน้ำท่วม น้ำหลาก ในพื้นที่

แต่หากเป็นขาลุยไปไหนไปกัน ก็ขอให้สนุกสุดมันส์กับธรรมชาติที่ “ทะเลน้อย” ได้มอบให้

พัทลุง

ภาพโดย คุณ psw2548

วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว

ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นวัดโบราณอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-1

ตามตำนาน “เพลาวัด” กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วว่า นางเลือดขาวกับพระยากุมาร เป็นผู้สร้างวัดขึ้น มีกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วให้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า “เพลาวัด”

โดยสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1492 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.1493 เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์

ตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้ว มีประวัติจารึกเรื่องราวไว้หลายตำนาน เช่น ประวัติเขียนบางแก้วของ พระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ.1482 (จ.ศ.301)

พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.1486 ส่วนทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า วัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ.1482

จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ 15-18 แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และได้รับอธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

ภายในบริเวณจัดได้พบโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ แสดงว่าบริเวณท้องที่แห่งนี้ มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และคงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย

ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งของคณะป่าแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูเสมอๆ

จนบางครั้งพวกโจรสลัดเข้ามาเผาผลาญบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้วัดเขียนบางแก้วจึงทรุดโทรมเป็นวัดร้างชั่วคราว จนเมื่อชาวพัทลุงสามารถรวมตัวกันได้จึงบูรณะวัดขึ้นอีก และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง

ในสมัยอยุธยากล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือครั้งแรก ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่าง พ.ศ.2109-2111 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะคือ เจ้าอินบุตรปะขาวสนกับ นางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน และครั้งที่ 2 สมัยพระเพทราชา พ.ศ.2242 ผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์คือ พระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง

เมื่อได้ทำการบูรณะแล้วจึงเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระ ขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ร่วมทำการบูรณะ เว้นเสียส่วยสาอากรให้ทางราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามทูลขอทุกประการ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง จนเมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

พระบรมธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28 เมตร สูง 2.63 เมตร

ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน

มุมบันไดทั้ง 2 ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม

ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง 4 (พระมหาพันธ์ ธมมนาโก สร้างไว้เมื่อ ปี 2515) ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5 ดอก 4 ใบ (ทองคำถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521)

ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดพระบรมธาตุเขียนบางแก้ว กรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา (กรมศิลปากร : 431)

ยอยักษ์ คลองปากประ

ล่องเรือ ชมวิวยอ แสงแรกของวัน ที่คลองปากประ ล่องเรือกับไกด์ท้องถิ่น ชมวิวยอสุดแสนมหัศจรรย์ พร้อมรับแสงแรกของวันไปพร้อมกับบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติกที่จะทำให้ตราตรึงใจคุณไปตลอดกาล

ท่านจะพบกับยอของชาวบ้านจำนวนมากตั้งตระหง่านอยู่บนผืนน้ำเมื่อพระอาทิตย์เริ่มโผล่แสงแรกออกมา ทำให้ยอที่ดูธรรมดากลายเป็นยอที่ถูกเติมสีสันให้สวยงาม โดยจิตรกรนามว่าธรรมชาติที่จะทำให้คุณประทับใจเราจึงอยากให้คุณลองไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง

เจ้าของภาพ CrazyKatz MeOw
ยุวนิตย มากทอง
เจ้าของภาพ คนมันเต็ง ขุดหัวมัน