ICOFIS ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้จากวิจัย คืนสุขสู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ทีมวิจัยสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ม.ทักษิณ ลงพื้นที่ชุมชนบ้านกล้วยเภา (ม.5) ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยรูปแบบการจัดการนาแบบผสมผสานระบบอินทรีย์ “โมเดลนาสร้างสุข” เพื่อนำองค์ความรู้จากงานวิจัยคืนกลับสู่ชุมชน พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในครัวเรือน องค์ความรู้นี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของ ICOFIS และนักวิจัยชุมชน กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากเทศบาลตำบลดอนประดู่ นวัตกรชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาบ้านกล้วยเภา เนื่องจากชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ “นาสร้างสุข” จากการมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มพัฒนาแปลงทดลอง ดูแลรักษา เก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย เก็บเกี่ยวผลิตและทดลองแปรรูปจำหน่าย ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำงานร่วมกับชุมชนของ ICOFIS อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อจำกัดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีระบบการคัดกรอง ป้องกัน และจำกัดจำนวนผู้ร่วมโดยผู้นำชุมชนอย่างเข้มงวด

นางสาวจิตรา จันโสด หัวหน้าทีมวิจัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตจากโมเดลนาสร้างสุขว่า “บนพื้นที่นา 1 ไร่ที่มีการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย 10,000 ตัว ได้ผลผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ 400 กก./ไร่เนื่องจากปัญหาอุทกภัยซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาบนผืนนาแปลงเดียวกันทำได้ 700 กก./ไร่ เราพบว่าการปักดำด้วยจำนวนต้นกล้า 3 ต้นต่อกอระยะห่าง 25×25 ซม. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS  ในช่วงข้าวอายุ 30 วันหลังปักดำครั้งเดียวต้นข้าวเติบโตได้ดี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านต้นกล้าได้  สำหรับปลาดุกมีอัตราการรอดร้อยละ 80 ได้น้ำหนักปลารวม 1,314 กก. ได้นำผลผลิตไปตรวจหาสารสำคัญแสดงปริมาณคุณค่าทางโภชนาการ และคำณวนต้นทุนการผลิต เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตจริงของชุมชน เช่น ใช้เพื่อวางแผนการควบคุมต้นทุน และการประเมินความคุ้มทุนในระยะต่างๆ เป็นต้น”

นางสาวพิมพ์ชนก แก้วอุดม นักวิชาการดูแลด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ได้ทดลองแปรรูปปลาดุกเป็นปลาดุกแดดเดียวเพื่อจัดจำหน่าย แลกเปลี่ยนว่า “ได้ถ่ายทอดกระบวนการแปรรูป ขั้นตอน สูตรและองค์ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ของปัจจัยที่มีต่อคุณภาพผลผลิต แนะนำโอกาสในการเพิ่มมูลมูลค่า เช่น การเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับสินค้าโดยแสดงคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งปลาดุกแดดเดียวนาสร้างสุขมีปริมาณโปรตีน 15% ลดปริมาณโซเดียมโดยยังคงรสชาติดี การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยในเรื่องการเก็บรักษาและนำไปเป็นของฝากได้ เป็นต้น”

ในช่วงท้ายของการส่งคืนความรู้สถาบันฯ ได้รับฟังเสียงของชุมชน ซึ่งชุมชนได้ให้ข้อมูลสถานการณ์ของการจำหน่ายข้าวที่ยังคงขึ้นอยู่กับกลไกทางสังคม การพัฒนาระบบกลุ่มที่เข้มแข็ง เช่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ในมิติด้านความสุขชุมชนเห็นพ้องต้องการว่าโมเดลนาสร้างสุขเป็นการนำศาสตร์พระราชาผนวกกับศาสตร์สากลมาใช้สร้างความมั่นคงทางอาหาร มีความสุขจากการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวและในชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชนและมีกิจกรรมต่อเนื่อง ทำให้ในระยะเวลาที่ผ่านมาชุมชนบ้านกล้วยเภาเป็นที่รู้จักมากขึ้น

หลังเสร็จการส่งคืนความรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ รักษาการผู้อำนวยการฯ ดร.บัณฑิต ทองสงฆ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ ได้ร่วมปักดำต้นกล้า เพื่อเป็นกำลังใจในการเริ่มต้นฤดูกาลทำนาของชุมชนบ้านกล้วยเภา…. สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลการทำนาผสมผสานระบบอินทรีย์ สามารถติดต่อสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (นางสาวจิตรา จันโสด หัวหน้า

โครงการ) Facebook : Icofis Tsu