ทีมข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ ไปตามถนนสายไสยวน-ควนปริง ในพื้นที่ ม.3 ต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน เมื่อไปถึงจุดดังกล่าวพบป้ายไวนิลสีขาว จำนวน 1 ป้าย เป็นป้ายปิดประกาศของแขวงทางหลวงชนบทพัทลุง ขอดับไฟฟ้าส่องสว่างข้างทางชั่วคราว ประมาณ 15 วัน “เนื่องจากข้าวไม่ออกรวง” พบที่นาบางแปลงไม่มีรวงข้าวจริง แต่มองไปแปลงนาผืนใกล้เคียงพบตั้งท้องออกรวงที่รอการเก็บเกี่ยว ทีมข่าวจึงเดินทางไปยังแปลงนาของเกษตรกรเพื่อสอบถามที่มาของป้ายดังกล่าว
นางสาวกาญจนา แก้วเรือง อายุ 42 ปี ชาวนาในพื้นที่ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ถนนสายดังกล่าวไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง และเมื่อช่วงปีที่แล้ว มีการปรับปรุงขยายเส้นทาง และมีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างขึ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางที่สัญจรไปมา แต่หลังจากที่มีการติดตั้งไฟส่องสว่าง ส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกผัก ทำนา
เนื่องจากแสงจากไฟฟ้าส่องสว่างทำให้ต้นกล้าของข้าว เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ข้าวที่ชาวนาปลูกก็ไม่มีการตั้งท้องออกรวง ทั้งๆที่แปลงนาแปลงอื่นที่อยู่ติดกัน แต่แสงไฟฟ้าส่องสว่างไปไม่ถึง กลับตั้งท้องออกรวงได้ตามปกติ ทางเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่ จำนวน 7 ราย จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังแขวงทางหลวงชนบทพัทลุง ขอดับไฟฟ้าส่องสว่างข้างทางชั่วคราว เพื่อให้ข้าวได้ตั้งท้องออกรวง
เกษตรกรชาวนาอีกรายที่อยู่ในพื้นที่ คือ นายนิตย์ แก้วเรือง อายุ 71ปี บอกว่า ทราบดีว่าการปิดไฟฟ้าส่องสว่างอาจกระทบกับบุคคลใช้ถนนเส้นทางดังกล่าว แต่ขอความกรุณาผู้ใช้ถนน ขอปิดไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อให้ชาวนาได้พอมีหวังว่าข้าวจะออกรวง เพราะมีการลงทุนไปมากแล้ว แต่โอกาสที่จะได้ผลคงยาก เพราะแปลงนาที่ว่าถ้าจะให้ได้ผลจริงต้องห้ามมีไฟฟ้าส่องสว่างก่อนหน้าที่ข้าวจะออกรวง 4 ถึง 5 เดือน ซึ่งไม่สามรถปิดไฟฟ้าส่องสว่างเป็นเวลานานแบนั้นได้
แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบลองเปลี่ยนสีของไฟฟ้าส่องสว่างในจุดดังกล่าว จากดวงไฟสีส้มเป็นสีขาว เพราะคิดว่าสีของไฟฟ้าส่องสว่างน่าจะมีผลทำให้ต้นข้าวไม่ออกรวง แต่ก็ยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าหากเปลี่ยนสีแล้วจะได้ผลที่ดีขึ้นหรือไม่ ส่วนชาวนาบางราย ถึงกับหมดหวังถอดใจนำต้นข้าวที่ไม่ออกรวงไปให้วัวกิน วัวก็ไม่กินอีก เนื่องจากต้นข้าวดังกล่าวมีความแข็งกว่าต้นข้าวปกติ
ทางด้าน นางสาวชนิดา ฆังคะจิตร(คัง-คะ-จิด) แขวงทางหลวงชนบทพัทลุง กล่าวว่า ป้ายดังกล่าวทางแขวงฯ ได้นำไปปิดประกาศไว้จริง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการร้องขอจากชาวบ้านในพื้นที่ ทางแขวงฯ ก็ให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ พร้อมปิดป้ายประกาศตามที่ชาวบ้านร้องขอ โดยปกติแล้วทางแขวงฯก็ยินดีรับฟัง และพร้อมแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนในทุกพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งในจุดดังกล่าว ทางแขวงฯ ได้ดำเนินการปิดคัตเอาต์เสาไฟฟ้าส่องสว่างไป จำนวน 5 ต้น ระยะเวลาประมาณ 15 วัน แต่หลังจากนี้ก็ต้องเปิดใช้ไฟฟ้าส่องสว่างตามปกติ เพราะจุดดังกล่าวเองก็มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน หากปิดไฟฟ้าส่องสว่างเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้ถนนเส้นทางสายนี้ได้
นางสาวชนิดาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่จะ มีการปรับปรุงขยายเส้นทางและติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างนี้ ก็มีการลงพื้นที่ทำประชาคมกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนแล้ว แต่ทางเกษตรกรคงคาดไม่ถึงไปว่าแสงไฟ จากไฟฟ้าส่องสว่างมีผลกระทบต่อพืชพันธุ์ทางเกษตร ซึ่งทางแขวงฯเองก็ไม่ทราบถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทั้งชาวนาและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องก็จะเร่งหามาตรการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรชาวนาทั้ง 7 ราย บนผืนนากว่า 10ไร่ ที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ต่อไป.