หนุ่มกู้ภัยหัวใจสีชมพู วอนช่วยเหลือสองตายาย

จากเหตุการณ์ที่มีคุณยาย เทียบ ขี้หนู อายุ 82 ปี ได้ประสานให้ญาติโทรเรียกรถฉุกเฉิน 1669มารับคุณตา ชม อินทร์มา อายุ 84ปี ที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากล้มลง ให้ไปส่งโรงพยาบาลพัทลุง

จนกระทั่งพบหมอแล้วเสร็จ ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ประสานรถจากหน่วยมูลนิธิกู้ภัยพัทลุงมารับสองตายายไปส่งกลับบ้าน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ม.ค.63 ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยไปส่งสองตายายถึงที่บ้าน ซึ่งเป็นห้องเช่าไม่มีเลขที่ อยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง ต.คูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง คุณยายเทียบ วัย 82ปี

ได้พูดขอบคุณเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ พร้อมพูดปิดท้ายสั้นๆว่า

“ยายไม่มีตังค์เป็นสินน้ำใจจะให้นะเพราะยายไม่มีตังค์”

ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไร แต่ระหว่างนั้นก็บังเอิญหันไปเห็นหม้อข้าว ที่เพียงข้าวก้นหม้อ กับไข่ทอดเพียงเท่านั้น ก่อนมีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่และคุณยายเทียบ พอทราบเรื่องราวของยายทำเอาเจ้าหน้าที่ถึงกับน้ำตาคลอเพราะสงสาร ก่อนมีการโพสต์เฟสบุ๊คของตัวเองเล่าเรื่อราวที่เกิดขึ้น

และเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา นายธีรยุทธ์ จันทร์ผลึก เจ้าหน้าที่กู้ภัยพัทลุง เดินทางมาหายายอีกครั้งพร้อมซื้ออาหารมามอบให้ตากับยายด้วยส่วนหนึ่ง ก่อนมีการพูดคุยกัน ระหว่างพูดคุยสังเกตเห็นคุณยายเทียบน้ำตาคลอดีใจที่มีคนแวะมาเยี่ยมที่บ้าน พร้อมเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนไปโรงพยาบาลเมื่อวานให้ฟังว่า เมื่อวานช่วงเย็นคุณตาชมฯ ได้ล้มลง คุณยายตกใจจึงโทรเรียกรถพยาบาลแต่กดเบอร์ผิด จึงโทรหาหลานสาวที่ขายของอยู่หน้าสถานีรถไฟให้ช่วยประสานรถโรงพยาบาลให้หน่อย ก่อนที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมารับ จนกระทั่งหาหมอเสร็จ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ประสานให้รถจากหน่วยกู้ภัยฯมารับกลับบ้าน

จากการลงพื้นที่ไปดูที่ห้องเช่าที่สองตายายอาศัยอยู่นั้น สภาพก็พออยู่ได้ แต่ที่เป็นปัญหาหนักของสองคนตายาย คือ เวลาจะดินทางไปซื้อข้าวปลาอาหาร ของใช้ต่างๆ ค่อนข้างลำบาก คุณยายเทียบฯ ต้องเดินเท้าไปซื้อของกินของใช้ ซึ่งห่างจากที่พักระยะทางเกือบ 3 กิโล อีกทั้งพื้นที่จุดดังกล่าว มีรถสัญจรไปมามาก เกรงจะได้รับอันตราย บวกกับสภาพร่างกายอายุของยายที่มากแล้วด้วย ส่วนคุณตาชมฯ ก็พิการขาด้วน สายตาก็ฝ้าฟางมองอะไรไม่ค่อยเห็นแล้ว แถมสุขภาพร่างกายก็มีโรคประจำตัวตามประสาผู้สูงอายุทั่วไป

คุณยายเทียบฯ เล่าว่า คุณยายจะเดินออกไปซื้อของวันเว้นวัน แกงถุงหนึ่งซื้อมาแล้ว กินไม่หมดก็เจียดอุ่นตั้งไฟไว้ได้พอกินสัก 2วัน ส่วนอาหารอย่างอื่นก็ซื้อมาตุนไว้ เช่น ไข่ ปลากระป๋อง ข้าวสาร แต่ก็ซื้อตุนไว้ไม่มากนัก เพราะไม่มีเงิน เงินบางส่วนต้องเก็บไว้เป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,200 บวกค่าน้ำค่าไฟอีกเดือนละ 200 บาท ส่วนรายได้หลักของสองตายาย ก็ได้มาจากเบี้ยคนพิการและเบี้ยผู้สูงอายุของตา จำนวน 1,600 บาท เบี้ยผู้สูงอายุของยายอีก จำนวน 800 บาท รวมรายได้ต่อเดือนประมาณ 2,400บาท

หักค่าบ้านค่าน้ำ ค่าไฟแล้วเหลือประมาณ 1,000บาท ไว้พอซื้อกับข้าวปะทังชีวิต แต่เงินในส่วนเบี้ยยังชีพที่ได้ คุณยายต้องเดินทางไปรับที่ต่างอำเภอ เดินทางโดยรถไฟไปอีกทอดหนึ่งซึ่งก็สร้างความลำบากในการเดินทางเป็นอย่างมาก ส่วนเงินบางส่วนอาจมีบ้างนานๆครั้งที่ลูกๆของคุณตาโอนมาให้ใช้จ่ายครั้งละ 500 บาท

ส่วนปัญหาเรื่องการเดินทางของสองตายาย ส่งผลให้ในบางครั้งตากับยายก็ไม่ได้ไปรับยาตามหมอนัด เพราะคุณตาชมเอง ไม่สามารถนั่งรถจักรยานยนต์ได้ ต้องใช้รถเข็นหรือรถที่สำหรับนอนได้เท่านั้น และอีกอย่างก็มีปัญหาเรื่องเงินด้วยส่วนหนึ่ง
หลังจากนั้นคุณยายเทียบฯ ก็พาไปเดินดูความเป็นอยู่ของตากับยายภายในห้องเช่าดังกล่าว พบในห้องนอนมีเพียงเสื่อผืนเดียว และที่นอนแบบบาง ผ้าห่มบางๆกับเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ตัว ด้านนอกบ้านคุณยายก็จัดเป็นที่หุง ทำกับข้าวโดยใช้เตาถ่าน ฟืนก็หาเอาข้างๆบ้าน
ก่อนมานั่ง และเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เดิมสองตายายทำงานอยู่ที่โรงโม่หินศิลาทอง ก่อนคุณตาจะเกิดอุบัติโดนหินหล่นทับจนขาขาดและมาถูกรถบรรทุกเหยียบซ้ำจนต้องตัดขาเพิ่มเติม และไม่ได้ทำงาน ก่อนมาเปิดที่สำหรับขายของชำกัน แต่ระยะหลังสุขภาพไม่ดี ทำงานไม่ไหว เลยกลับมาอยู่ที่พัทลุงโดยมาเช่าบ้านอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับใครที่สนใจจะช่วยเหลือสองตายาย สามารถร่วมบริจาคเงินผ่านบัญชีธนาคารออมสิน

ชื่อบัญชี นส.เทียบ ขี้หนู บัญชีเลขที่ 02-015-896 7214 หรือติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ของคุณยายเทียบฯโดยตรง ทาง 082-0191923

ข้าวของจำเป็นที่สองตายายต้องใช้ ได้แก่ รถเข็นสำหรับผู้ป่วยแบบพับเก็บได้ 1 คัน หมอน ผ้าห่ม และของใช้ในครัวเรือน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง แต่ต้องเป็นของที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุด้วยเท่านั้น.


พิกัดบ้านของยาย  เทียบ ขี้หนู 

ชาวบ้านร้องเรียนฟาร์เลี้ยงหมูส่งกลิ่นเหม็น

ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ ม.6 ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าพบปลาตาย ซึ่งคาดว่าเกิดจากฟาร์มเลี้ยงหมูในพื้นที่ มีการปล่อยน้ำเสีย บางครั้งน้ำเน่าเสียที่ว่ายังส่งกลิ่นเหม็นสร้างความรำคานให้ชาวบ้านในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง


เมื่อทีมข่าวไปถึงในพื้นที่ ปรากฏว่าไม่พบเจอผู้ร้องเรียน จึงได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับฟาร์มหมู ที่มีการร้องเรียนดังกล่าว พบกับ คุณตาไข่ หรือนายทิ้ง คงชู อายุ 84 ปี คุณตา เล่าให้ฟังว่า ฟาร์มหมูดังกล่าวเปิดเลี้ยงหมูมาประมาณ 6 ปี

ก่อนหน้านี้ก็เจอกับปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น แต่พักหลังๆมา ทางเจ้าของฟาร์มฯได้ลงมาพูดคุย และรับทราบปัญหาของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับฟาร์ม จนมีการแก้ปัญหาจัดการเรื่องกลิ่นเหม็นไปได้ส่วนหนึ่ง

อาจมีบ้างแต่ก็ไม่ถือว่ากระทบกับปัญหาเรื่องสุขภาพของชาวบ้านมากนัก ปีหนึ่งจะประสบปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นสัก2ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน และเดือนสิงหาคม เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีกระแสลมแรง ซึ่งก็สอดคล้องกับชาวบ้านอีกคนที่เล่าให้ฟัง

หากชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับฟาร์มหมูเริ่มได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็น ก็ไปแจ้งกับทางเจ้าของฟาร์ม ทางฟาร์มก็จะเร่งแก้ปัญหาให้ทันที โดยไม่มีท่าทีไม่พอใจแต่อย่างใด จนชาวบ้านเองต่างก็พอใจ และถือว่าพอถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้หากกลิ่นไม่รุนแรงมากนัก

หลังจากนั้นทีมข่าวก็ได้เดินทางต่อไปยัง ศรีวัณฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงหมูที่ถูกกล่าวถึง ได้พบกับนาย เสรี ทองแดง อายุ 49 ปีเจ้าของฟาร์ม พร้อมเล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ตนได้เปิดฟาร์มเลี้ยงหมูมาตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา

ซึ่งแต่เปิดฟาร์มมาก็เจอกับปัญหาการร้องเรียนมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาก็ลงไปแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านโดยทันทีทุกครั้ง นอกจากนี้ก็ยังมีการสั่งกำชับชาวบ้านว่าหากมีกลิ่นเหม็นมาก ก็ให้มาบอกกับทางฟาร์มทันที เพื่อจะได้ลงไปแก้ปัญหาต่อไป บางครั้งก็ได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านของชาวบ้านเพื่อสอบถามและพร้อมทำความเข้าใจกันอีกด้วย


นาย เสรีฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางฟาร์มได้คิดค้นสูตรกำจัดกลิ่น นั่นคือ น้ำหมักจุลินทรีย์ ไว้สำหรับแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย การกำจัดกลิ่นเหม็นของมูลหมู ซึ่งทางฟาร์มมีการจัดระบบการเลี้ยงและทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำหมักนี้ทุกวัน ซึ่งหมูที่เลี้ยงไว้ตอนนี้มีจำนวน 4 คอก มีหมูทั้งหมดประมาณ 1,300 ตัว.

หนุ่มพนักงานบริษัทวัย 37ปี หันมาเลี้ยงปูนาสร้างรายได้

ทีมข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ บ้านเขาจิงโจ้ พื้นที่ ม.9 ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ไปยังบ้านมันปูเลขที่ 58 ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นบ้านของนาย ธิติวัฒน์ สงให้ อายุ 37 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม.ซึ่งใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบของบ้านปรับปรุงเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงปูนา ซึ่งดัดแปลงเป็นบ่อซีเมนต์ จำนวน 4 บ่อ บ่ออนุบาลปูที่ผ่านการทำคลอดใหม่ๆ และปูที่ลอกคราบรวมถึงปูที่ขาหัก จำนวน 9 บ่อ และยังมีการขยายบ่อเพิ่มเติมเป็นบ่อพลาสติกอีก 3 บ่อ


สำหรับการเลี้ยงปูนา เป็นการจำลองสถานที่เลี้ยงให้เหมือนตามธรรมชาติของมันให้มากที่สุด โดยการนำไม้ไผ่ กระเบื้องลอน เพื่อไว้สำหรับให้ปูนา ใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวระหว่างมีการผสมพันธ์ เลี้ยงด้วยอาหารตามธรรมชาติที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่น เช่น จอก แหน สาหร่าย พวกผักกินยอด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกระเฉด และลูกกุ้ง ลูกปลา หรือบางทีอาจมีอาหารเม็ดเล็กที่ใช้สำหรับการเลี้ยงปลาดุกร่วมด้วย หากไม่มีพวกพืชน้ำ


ส่วนปูนา ที่เลี้ยงก็เป็นปูสายพันธ์พระเทพ กับสายพันธ์กำแพง ซื้อพ่อพันธ์-แม่พันธ์มาจาก จ.ราชบุรี คู่ละ 100บาท นำมาเลี้ยงเพาะพันธ์ใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 เดือน ก็สามารถขายต่อได้ โดยแบ่งขายเป็นพ่อพันธ์-แม่พันธ์คู่ละ100 บาท และลูกปูตัวเล็กตัวละ 5 บาท นอกจากนี้นาย ธิติวัฒน์ ฯ ยังได้สาธิตการทำคลอดปูนาให้ดูด้วย ซึ่งวิธีการทำก็ไม่ยาก และการทำคลอดแต่ละครั้งก็ได้ปูนาประมาณ 400 ถึง 600ตัว ต่อแม่พันธ์หนึ่งตัว และนาย ธิติวัฒน์ ฯยังบอกอีกว่าแม่พันธ์ปูนาแต่ละตัวสามารถทำคลอดได้ถึง 4 ครั้งถึงจะตายไป นับเป็นรายได้ที่ลงทุนน้อยแต่สร้างกำไรได้อย่างดีทีเดียว


นาย ธิติวัฒน์ ฯ เล่าว่า สาเหตุที่ตนตัดสินใจเลี้ยงปูนา เนื่องจากปัจจุบันปูนาใกล้สูญพันธ์ ตนจึงเริ่มมีแนวคิดที่จะศึกษาเรื่องปูนาและวิธีการเลี้ยงปูนา จนกระทั่งได้มาเริ่มเลี้ยงปูนาอย่างจริงจังเมื่อช่วงเดือน ต.ค.62 ที่ผ่านมา การเลี้ยงปูนานับว่าเป็นการสร้างรายได้อีกอาชีพหนึ่งที่คนมักมองข้าม มีแต่คนชอบกินแต่ไม่มีใครคิดเลี้ยงปูนาอย่างจริงจังเหมือนกับภาคอื่นๆที่มีการเลี้ยงกันมากอยู่ในขณะนี้ การเลี้ยงปูนาเป็นอาชีพที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ไม่ต้องเรียนรู้มาก ลงทุนก็ไม่เยอะถ้าเทียบกับการลงทุนทำอาชีพอย่างอื่น ใช้เวลาการเลี้ยงแค่ 4 เดือนก็สามารถสร้างรายได้ ตอนนี้ก็มีลูกค้าส่วนใหญ่ทั้งในพื้นที่ จ.พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ และ จ.ตรัง ที่สนใจมาซื้อไปทำวิจัยปูนิ่ม ของมหาวิทยาลัยราชมงคล จ.ตรังอีกด้วย.

จังหวัดพัทลุงเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์ในสุกร

วันนี้ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เดินทางร่วมประชุมฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง ที่ห้องประชุมของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เนื่องจากขณะนี้โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดสัตว์ตระกูลสุกรที่มีการระบาดต่อเนื่องทั่วโลก ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรค แต่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค จากช่องทางต่างๆ เช่น การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว การค้าขาย การขนส่งสินค้า


สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งเป็นไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม อยู่ในกลุ่มเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า family Asfarviridae ไวรัสชนิดนี้พบเป็นไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกร ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ไม่มียาในการรักษา เชื้อมีความคงทนในสภาพแวดล้อมทั่วไป เชื้อโรคไม่ได้ติดต่อมาสู่คน แต่คนสามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่สุกรได้


ส่วนการเฝ้าระวังอาการของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สามารถสังเกตุได้ดังนี้ ฟาร์มที่มีสุกรตายแบบเฉียบพลัน ภายใน 2 วันติดต่อกัน และเกษตรกรรายย่อย ที่พบว่าสุกรตายเฉียบพลันตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปใน 1 วัน หรือมีอาการป่วยไข้สูง จับกลุ่มนอนสุมกัน สุกรมีอาการท้องเสียเป็นเลือด ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก มีรอยช้ำโดยเฉพาะที่ใบหู ท้อง ไอ และขาหลังไม่มีแรง หากมีอาการใดๆ ปรากฏให้เกษตรกรรีบแจ้ง ต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อจะได้เข้าตรวจสอบสาเหตุต่อไป และสำหรับผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการทานเนื้อสุกรที่ปรุงไม่สุก และต้องทำความสะอาดเนื้อหมูให้สะอาดก่อนปรุงทุกครั้ง.

พัทลุง ภาพ / ข่าว ธัญวีร์ จันทร์สุขศรี