คืบหน้า เหตุพบศพสาวนิรนามถูกฆ่าแล้วนำศพห่อด้วยผ้าก่อนนำร่างมาโยนทิ้ง ชนวนเหตุคาดมาจากเรื่องหนี้สิน

จากกรณีพบศพหญิงสาวนิรนามถูกฆ่าแล้วนำศพห่อด้วยผ้า ก่อนนำร่างมาโยนทิ้งที่บริเวณป่าริมคลองชลประทาน ในพื้นที่ ม. 6 ต.นาโหนด อ. เมือง จ.พัทลุง เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงค่ำของวันที่ 2 ส.ค.64


หลังจากที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง เจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมด้วยแพทย์เวรและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบร่างของหญิงสาวอายุประมาณ 30 ปี สวมเสื้อยืดคอกลมแขนสั้น นุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ สภาพศพถูกห่อด้วยผ้าปูที่นอนหลายชั้น ก่อนใช้เชือกผูกมัดหัวท้าย ศพเริ่มส่งกลิ่นเหม็น คาดผู้ตายน่าจะเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน ชาวบ้านละแวกที่เกิดเหตุไม่มีใครรู้จัก หรือเคยเห็นผู้ตายมาก่อน ส่วนในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พบร่องรอยการต่อสู้ หรือหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับผู้ตายเลย

หลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามลงพื้นที่สอบสวนหาข่าว และเบาะแสของผู้ตายก่อนเกิดเหตุจนกระทั่งทราบว่าผู้ตาย คือ นางสาว จิราพร เพ็ชรรัตน์ อายุ 28 ปี เป็นคนในพื้นที่ ม.7 ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง แต่ไปมีครอบครัวอยู่ในพื้นที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
และในช่วงเช้าวันนี้ ทางทีมข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ บ้านของสามีของผู้ตายในพื้นที่ อ.เขาชัยสน แต่กลับพบว่าบ้านปิดเงียบ ไม่มีใครอยู่ ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปยังบ้านของผู้ตายในพื้นที่ ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง พบเพียงน้องชายของผู้ตาย ส่วนแม่ของผู้ตาย ทราบว่า ได้เดินทางไปตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ว่าตรงกับดีเอ็นเอของผู้ตายหรือไม่

ทางด้านน้องชายผู้ชาย เล่าว่า ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 30 ก.ค.64 คนทางบ้านสามีผู้ตายโทรมาแจ้งกับแม่ของผู้ตายว่า มีคนมาจับตัวผู้ตายไปจากบ้านพักในพื้นที่ของ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง หลังจากนั้นไม่นานทางกลุ่มคนร้ายได้นำโทรศัพท์ของผู้ตายติดต่อมายังแม่ เพื่อให้นำเงินจำนวน 6 หมื่นบาทไปแลกกับตัวผู้ตาย และมีการติดต่อทวงถามกันอีกหลายครั้งจนกระทั่งช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 31 ก.ค.64ทางกลุ่มคนร้ายติดต่อมาอีก และมีการพูดต่อรองให้แม่ของคนตายหาเงิน จำนวน 3 หมื่นบาท ให้เวลาแค่ช่วงเที่ยงวันเดียวกัน แต่แม่ผู้ตายไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวได้ และหลังจากนั้นก็ขาดการติดต่อจากผู้ตาย จนกระทั่งมีคนมาพบเป็นศพถูกห่อด้วยผ้า และมีการใช้เชือกผูกมัดหัวท้ายก่อนนำศพมาโยนทิ้งป่าริมคลองชลประทาน

ส่วนชนวนเหตุคาดน่าจะมาจากเรื่องปัญหาหนี้สิน ที่ทางผู้ตายได้เข้าร่วมเล่นแชร์ลูกโซ่ จนเกิดปัญหาบานปลาย นำไปสู่การฆ่าล้างหนี้.

จนท.พร้อมจิตอาสา เร่งเตรียม รพ.สนามแห่งที่

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และ นายแพทย์ดุษฎี คงตระกูลทรัพย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานที่ ที่จะใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ที่ศูนย์ประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง โรงแรมวังโนรา

ซึ่งในวันนี้มีกลุ่มจิตอาสา จากวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง ทยอยนำเตียงกระดาษพร้อมประกอบเตียงและอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นเกือบ 1 ร้อยชุด เพื่อเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง ประกอบกับมีผู้ป่วยติดเชื้อจากต่างจังหวัดประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อมารักษาตัวในพื้นที่ด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยล้นเตียงทุกโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่งในพื้นที่ของ จ.พัทลุง แม้จะมีการเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งแรกไปแล้วเมื่อ 3วันก่อนหน้า แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกจำนวน 200 เตียง โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆจากภาคเอกชนในพื้นที่

ขณะเดียวกันหอการค้าจังหวัดพัทลุงโดยนางสาวพสุกานต์ ลาภานุพัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นำข้าวสาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์อื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง มอบให้กับสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง


สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดขณะนี้มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวันสูงทะลุ 100 ราย หลายวันติดต่อกัน ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษาระยะห่าง และปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 มากนัก.

มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดโรงพยาบาลสนาม รอบที่ 2 หลังจากมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะกรรมการ และคณะทำงานหน่วยปฏิบัติการกระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรรม หรือ “หน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้า จ.พัทลุง” เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาพรวมของประเทศและในจังหวัดพัทลุงที่พบคลัสเตอร์การระบาดเพิ่มเติม

ทำให้โรงพยาพยาบาลหลักไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด ประกอบกับนโยบายในการคัดกรองและจำแนกผู้ป่วยออกเป็นระดับต่างๆ รวมถึงนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ประสานให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดโรงพยาบาลสนามทุกจังหวัดสนับสนุนการการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโดยให้ประสานงานหน่วยงานภาคีในจังหวัดนั้น ที่สำคัญมหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้ปณิธาน “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม”

ที่ตระหนักในความจำเป็นและบทบาททางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูสังคม ชุมชน การเผยแพร่ต่อยอดผลงานสู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคม การถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันโรค การผลิตเจล สเปรย์ โลชั่นแอลกอฮอล์สมุนไพร การรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพและการรับวัคซีนผ่านนวัตกรชุมชน การจัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รอบแรกระหว่างวันที่ 21 เมษายน-27 พฤษภาคม 2564


จากสถานการณ์และความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยทักษิณและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ภายใต้คณะกรรมการจัดเตรียมสถานที่รองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จึงเห็นชอบร่วมกันในการเปิดโรงพยาบาลสนาม ภายใต้ชื่อ “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” รองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 300 เตียง ณ สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ตั้งแต่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่อาจลุกลามขยายตัวมากขึ้น มหาวิทยาลัยทักษิณ จะร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานในพื้นที่ในระดับจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่น ในการรณรงค์ เผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันตนเอง การปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน/ หมู่บ้าน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่รอการส่งต่อยังโรงพยาบาล การสกัดกั้นการระบาดลุกลามของเชื้อโรคในระดับครัวเรือน/ชุมชน/ หมู่บ้าน อันเป็นการแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ การบรรเทาการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นต้น


นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ จะร่วมรณรงค์ส่งเสริมสนับสนุนการใช้สมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อป้องกันรักษาอาการเบื้องต้นของโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย ฯลฯ ซึ่งทางสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน จะร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านในจังหวัดพัทลุงดำเนินการจัดทำสมุนไพรต้านโควิด-19เพื่อให้กับประชาชนเข้าถึงได้ในราคาถูก เร็วๆนี้


ด้านแพทย์หญิงอภิญญา เพชรศรี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองผู้อำนวยการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด -19 ล่าสุดในจังหวัดพัทลุงเมื่อวานนี้ (20 กรกฎาคม 64) เพิ่มขึ้น 145 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,016 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย ด้วยจำนวนตัวเลขที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานผลิตเนื้อไก่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงที่กระจายในทุกอำเภอของจังหวัดพัทลุง ขณะนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกหลายราย อยู่ขั้นตอนการกักตัวตามนโยบาย


จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันกรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว โดยโรงพยาบาลทุกอำเภอของจังหวัดพัทลุง มีผู้ป่วยโควิดกำลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอำเภอ รวม 439 ราย ได้แก่โรงพยาบาลพัทลุง 110 ราย โรงพยาบาลกงหรา 83 ราย โรงพยาบาลเขาชัยสน 48 ราย โรงพยาบาลตะโหมด 29 ราย โรงพยาบาลควนขนุน 28 ราย โรงพยาบาลบางแก้ว 22 ราย โรงพยาบาลป่าบอน 16 ราย โรงพยาบาลปากพะยูน 12 ราย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 11 ราย โรงพยาบาลศรีบรรพต 8 ราย และโรงพยาบาลป่าพะยอม 1 ราย ตอนนี้มีผู้ป่วยที่รับมาจากกรุงเทพและปริมณฑลแล้ว จำนวน 69 ราย หายกลับบ้านแล้ว 15 ราย ในส่วนของโรงพยาบาลสนาม “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว จำนวน 71 ราย หญิง 43 ราย ชาย 28 ราย ส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ มีบุคลากรทางการแพทย์ คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง


การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดพัทลุง ได้ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดพัทลุง ทั้งหมด 297,474 ราย คิดเป็น 70% ของประชากรในจังหวัดพัทลุง โดยแบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์แล้ว 3,432 ราย อสม. 7,700 ราย ผู้สูงอายุ 97,921 ราย กลุ่มโรคเรื้อรัง 38,985 ราย ประชาชนอายุ 18-60 ปีขึ้นไป 121475 ราย ประชาชนอายุ 12-18 ปี 27,475 ราย บุคลากรด่านหน้า 396 ราย ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และประชาชนอายุ18-60 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก แล้วจำนวน 41,102 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.82 เข็มที่สอง จำนวน 14,077 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.73 มีผู้จองวัคซีนจำนวน 135,417 ราย


อนึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนกิจกรรมในโรงพยาบาลสนาม โดยร่วมบริจาคสิ่งของที่จำเป็นในการชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร น้ำ ผลไม้ เครื่องดื่ม ฯลฯ ได้ที่โรงพยาบาลสนาม “ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง” หรือทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. 096 389 8943

เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวบ้านหัวป่าเขียวกังวล หลังพบวัวตายนับสิบตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ หวั่นเป็นโรคลัมปีสกิน

เกษตรกรที่เลี้ยงวัวในพื้นที่บ้านหัวป่าเขียว ม.7 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หลายราย กำลังประสบกับปัญหาวัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หวั่นเป็นโรคระบาดลัมปีสกิน ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้


นายบุญช่วย รักษ์จุล อายุ 62 ปี เกษตรกรเลี้ยงวัวในพื้นที่ เล่าว่า ตนเลี้ยงวัวสายพันธุ์พื้นบ้านและวัวสายพันธุ์ชาโลเล่ไว้ จำนวน 13 ตัว และเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา วัวที่ตนเลี้ยงไว้เกิดล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ วัวที่ตายทุกตัวพบมีอาการเหมือนกัน คือ ตัวแข็ง ปากแข็ง เบื่ออาหาร เริ่มซูบผอม หลังจากนั้นประมาณ 6 ถึง 7 วัน วัวก็จะตาย ล่าสุดพบวัวสายพันธุ์ชาโลเล่ เพศเมียอายุ 6 ปี เริ่มมีอาการตัวแข็ง ปากแข็ง เบื่ออาหารและเริ่มซูบผอมอีกตัว ยอมรับว่าตอนนี้เครียดและกังวลมาก อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาช่วยเหลือ และตรวจสอบว่าวัวในพื้นที่เป็นโรคระบาดลัมปีสกินหรือไม่ หลังจากนั้นนายบุญช่วยฯ ก็พาไปดูวัวของเกษตรกรอีกรายที่มีอาการคล้ายๆกัน

นางสมพร จันทร์อินทร์ อายุ 52ปี เกษตกรอีกราย เลี้ยงวัวสายพันธุ์พื้นบ้านไว้ จำนวน 23 ตัว แต่พบว่ามีวัวเพศผู้ อายุประมาณ 1ปีครึ่ง มีแผลไหม้พุพองบริเวณใบหูทั้งสองข้าง มีอาการ ซึม เบื่ออาหาร ตนจึงแยกวัวตัวดังกล่าวออกจากฝูงวัวทั้งหมด เพื่อสังเกตดูอาการ และรักษาตามวิธีหมอชาวบ้าน โดยให้กินถั่วเขียวต้มและป้ายยาสีม่วงไว้เบื้องต้น สำหรับในพื้นที่บ้านหัวป่าเขียวพบเกษตรกรที่เดือดร้อนแล้ว จำนวน 6-7 ราย วัวตายไปแล้ว จำนวน 15 ตัว

ทางด้านปศุสัตว์อำเภอควนขนุน หลังจากได้ทราบข่าวก็จะเร่งลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบคอยแนะนำแก่เกษตรกรที่เลี้ยงวัว ให้มีการจัดการควบคุมแมลงพาหะนำโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ต่อไป.

หนุ่มวัย34 ปี ป่วยจิตเวชเครียดจัด หวังกระโดดตึก รพ.ฆ่าตัวตาย

เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยพัทลุง เร่งเข้าเกลี้ยกล่อม และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่โรงพยาบาลพัทลุง ที่คิดสั้นหวังจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ท่ามกลางสายตาพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการในโรงพยาบาลพัทลุง ลุ้นเอาใจช่วยไปตามกัน สุดท้ายเจ้าหน้าที่กู้ภัยพัทลุงและญาติผู้ป่วย ช่วยกันเกลี้ยกล่อม จนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งใช้เวลาเกลี้ยกล่อมอยู่นานเกือบหนึ่งชั่วโมง

ทางด้านผู้เป็นแม่ของผู้ป่วยคนดังกล่าว เล่าว่า ผู้ป่วยได้เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพัทลุงตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ก่อนเกิดเหตุผู้ป่วยก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ส่วนอาการป่วยทางจิต ผู้ป่วยเองเริ่มมีอาการมาได้สักพักนึงแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยคิดสั้นฆ่าตัวตายระหว่างที่ติดคุกในคดียาเสพติดมาแล้วครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่และญาติ ก็ได้ส่งตัวผู้ป่วยรายนี้ไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ เพื่อรักษาตามอาการต่อไป.

รพ.สนามเปิดเฟส2 รองรับผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุงยังคงมีประชาชนเดินทางไปมอบสิ่งของและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์อย่างไม่ขาดสาย

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ของ จ.พัทลุง ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 17 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมแล้วจำนวน 310 ราย เสียชีวิต 2 ราย และรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว จำนวน 45 ราย
พบสองกลุ่มคลัสเตอร์ใหญ่ มาจากงานแต่งงาน ในพื้นที่ ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด และกลุ่มมโนราห์ ของ อ.ป่าพะยอม ส่งผลให้ตอนนี้ทาง อ.ตะโหมด ได้มีการสั่งล็อคดาวน์ไปแล้ว 1ชุมชน และอีก 3 หมู่บ้านใน ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด และอีก 5 หมู่บ้านใน อ.ป่าพะยอม และที่ซ้ำร้ายพบกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงบางรายไม่ยอมกักตัว ทำให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน

สำหรับทางด้านโรงพยาบาลสนาม ที่สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชนมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ขยายเปิดเฟส2 แล้วจำนวน 150 เตียง จากเดิมที่เปิดไปจำนวน 60 เตียง แต่เนื่องด้วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 350 เตียง ส่วนเตียงที่ทางมหาลัยจัดเตรียมไว้ ก็ไม่เพียงพอกับผู้ป่วย จึงต้องใช้เตียงของทหารจากค่ายอภัยบริรักษ์ จ.พัทลุง และเตียงกระดาษเอสซีจีมาเพิ่มต่อไป

ในขณะที่ศูนย์น้ำใจคนเมืองลุง ยังคงมีประชาชน ห้างร้าน ผู้ประกอบการ เดินทางไปมอบสิ่งของ อาหารสำเร็จรูป พร้อมให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ปกครอง ที่คอยผลัดเปลี่ยนมาดูแลรักษาความเรียบร้อยที่โรงพยาบาลสนาม รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญในสถานการณ์ตอนนี้.

สาววัย 18 ปี ตีเนียนนำสร้อยคอทองปลอมมาหลอกขายร้านทอง เจ้าของร้านตาไวจับพิรุธได้ แถมยังใจดีไม่เอาเรื่องพร้อมกล่าวตักเตือน

เหตุเกิดเมื่อช่วงสายวันนี้(วันที่ 2 พ.ค.64)ที่ร้านทองภายในโลตัสแม่ขรี ต.โคกสัก อ.บางแก้ว จ.พัทลุง มีวัยรุ่นสาว อายุ 18 ปี รูปร่างท้วม สูงประมาณ 180 ซม.ผิวดำแดง ขับรถ จยย.เข้าไปพร้อมเพื่อนสาวอีกคน เมื่อไปถึงร้านทองดังกล่าว ก็บอกว่าจะนำสร้อยคอทอง น้ำหนัก 5 บาท มาขายในราคา 5 หมื่นบาท เจ้าของร้านก็เริ่มสงสัย และสอบถามถึงที่มาของสร้อยคอทอง วัยรุ่นสาวอายุ 18 ปี อ้างว่า ตนได้เล่นแชร์ทองกับเพื่อน แต่ช่วงนี้หมุนเงินไม่ทันจำเป็นต้องนำสร้อยคอทองมาขาย เพื่อนำเงินไปใช้จ่าย หลังจากนั้นเจ้าของร้านทองก็นำสร้อยคอทองปลอมดังกล่าวไปชั่งน้ำหนัก และพบรอยตำหนิบนสร้อยคอทองดังกล่าวอีกหลายจุด จึงรู้ว่าเป็นทองปลอมอย่างแน่นอน

และในระหว่างนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.บางแก้ว ออกตรวจความปลอดภัยในห้างเข้ามาพอดี แต่เจ้าของร้านทองเห็นว่ายังเป็นเด็ก และตนก็ยังไม่ได้เสียหายอะไร จึงไม่ได้แจ้งความเอาผิดกับเด็กสาวคนดังกล่าว และได้ว่ากล่าวตักเตือนไปก่อนปล่อยกลับบ้าน แต่อยากนำเรื่องราวนี้เพื่อเตือนภัย หวั่นจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้กับร้านทองอื่นๆอีก.

ชายวัย 52ปี เครียดเป็นโรคซึมเศร้า คิดสั้นฆ่าตัวตายโดยนอนให้รถไฟทับร่าง

ช่วงเที่ยงวันนี้ พ.ต.อ.สิทธิพงศ์ สังข์แสง ผกก.สภ.ปากพะยูน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากพะยูน แพทย์ของโรงพยาบาลปากพะยูน และเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยพัทลุง เข้าตรวจสอบบริเวณข้างสถานีรถไฟบ้านควนเคี่ยม ในพื้นที่ ม.9 ต.ฝาละมี อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในที่เกิดเหตุพบร่างของนาย อำมร จุลานุพันธ์ อายุ 52ปี เป็นคนในพื้นที่ ม.2 ต.วังใหม่ อ.ป่าบอน ในสภาพร่างเละ เเขน ขา ขาดไปคนละทิศละทาง

จากการสอบปากคำญาติของผู้เสียชีวิตและเจ้าหน้าที่การรถไฟเบื้องต้น ทราบว่า ผู้ตาย เป็นผู้ป่วยจิตเวช เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งในวันนี้ ได้คิดสั้นเดินตัดหน้ารถไฟเพื่อฆ่าตัวตายอีกครั้ง และเสียชีวิตดังกล่าว ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะช่วยกันเก็บชิ้นส่วนร่างของผู้ตาย ไปชันสูตรเพิ่มเติมยังโรงพยาบาลปากพะยูน และมอบร่างให้ญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุศลศพตามประเพณีต่อไป.

#ที่นี่พัทลุง

พบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มรายที่2 ขณะที่ทางจังหวัดเพิ่มมาตรการเข้ม สั่งล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยง2ชุมชนในเขตเทศบาลเมือง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง ยังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวัน วันนี้มียอดเพิ่มขึ้นอีก 10 ราย รวมยอดสะสมอยู่ที่ 144 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตรวม 2 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่สอง เป็นผู้สูงอายุเพศชาย อายุ 93 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง ได้รับเชื้อมาจากบุคคลในบ้าน หลังจากนั้นก็มีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจเหนื่อยไปหาหมอที่โรงพยาบาลป่าบอน ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตะโหมด และโรงพยาบาลพัทลุง และเสียชีวิตลงเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 เม.ย.64 ที่ผ่านมา

นพ.จรุง บุญกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพัทลุง เล่าว่า ผู้ตายมีโรคประจำตัวคือ วัณโรค และความดันโลหิตสูง ทำให้ปอดอักเสบ มีอาการหอบเหนื่อยง่าย เกิดภาวะหลอดลมอุดตันเรื้อรัง บวกกับเป็นผู้ป่วยมีอายุเยอะ ทำให้อาการทรุดเร็วจนกระทั่งเสียชีวิตลง นอกจากนี้ยังมีบุคคลในครอบครัวของผู้ตาย ซึ่งเป็นลูกสาว ยังคงเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพัทลุงด้วยอีกหนึ่งคน ส่วนร่างของผู้ตายทางญาติได้นำไปเผาแล้วเมื่อช่วงค่ำของวันเดียวกัน ในพื้นที่ ต.โคกทราย อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ท่ามกลางญาติที่มาร่วมอาลัยประมาณ 10 คนเท่านั้น

ล่าสุดวันนี้ทางจังหวัดได้เพิ่มมาตรการเข้ม ออกประกาศ ฉบับที่ 24 ปิดสถานที่เสี่ยง ต่อการแพร่ระบาดโรคแบบกลุ่มก้อนเพิ่มเติม เช่น สถานที่แสดงมหรสพ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ และโรงละคร รวมถึงร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นๆ สามารถเปิดได้ตั้งแต่เวลา 05.00- 24.00 น. นอกจากนั้นยังให้อำนาจแต่ละอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นแต่ละแห่ง จัดการดูแลใช้มาตรการล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยงได้ตามความเหมาะสม หากพบในชุมชน หรือ หมู่บ้านนั้นๆมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้มี 2 ชุมชนแรกคือ ชุมชนบ้านหน้าท่าเรือ และชุมชนหน้าเขาอกทะลุ ภายในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ที่กำลังจัดการล็อคดาวน์ชุมชน เนื่องจากพบยอดผู้ป่วยแล้ว จำนวน 15 ราย และหากพื้นที่ไหนมีการล็อคดาวน์แล้วต้องมีมาตรเข้มห้ามบุคคลในพื้นที่เข้า-ออกอย่างเด็ดขาดเป็นเวลา 14 วัน

แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเมืองพัทลุงลงพื้นที่ ก็เกิดความวุ่นวายเล็กน้อยเนื่องจากชาวบ้านในชุมชนบางส่วนไม่พอใจ เพราะเกิดความเข้าใจผิดพลาดกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาพูดคุย สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านทั้งสองชุมชนนานเกือบ 2 ชั่วโมง จนสามารถตกลงกันได้ด้วยดี พร้อมตั้งจุดตรวจ/คัดกรองบุคคลเข้า-ออกเข้ม2 จุด ด้วยกันคือ จุดที่1 บริเวณ สามแยกปากทางเข้าภูเขาอกทะลุ และจุดที่ 2 บริเวณสามแยกถนนเจริญดิษฐ์อินทร์ เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 28 เม.ย.64 ถึงวันที่ 11 พ.ค.64 นี้.

พัทลุง- ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยอดทะลุกว่า 100รายแล้ว เตรียมล็อคดาวน์ตำบลที่มีผู้ป่วยเกิน 10 ราย

สถานการณ์การ การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ยังน่าเป็นห่วงล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 100 ราย ในขณะที่ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดพัทลุง เร่งใช้มาตรการล็อคดาวน์ตำบล ชุมชน ที่มีผู้ป่วยเกิน 10 ราย ห้ามเข้าออกพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 14 วัน

ซึ่งในวันนี้ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประชุมด่วน เพื่อวางแนวทางและมาตรการเข้มควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน วันนี้เพิ่มอีก 7 ราย รอผลตรวจอีก 2 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมในระลอกนี้สูงถึง 115 รายแล้ว เสียชีวิตแล้ว 1 ราย


และจาการสอบสวนไทม์ไลน์ของผู้ป่วยแต่ละรายนั้น ปรากฎว่าส่วนใหญ่เป็นการแพร่ระบาดภายในครอบครัว โดยมีการรับเชื้อมาจากบุคคลภายนอกที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดพัทลุง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และมีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็ยังคงเร่งลงพื้นที่ติดตามตรวจสารคัดหลั่งจากกลุ่มบุคคลเสี่ยงอย่างต่อเนื่องทุกวัน อำเภอที่มียอดผู้ป่วยมากสุดจะอยู่ในพื้นที่ของ อ.เมืองพัทลุง และ อ.ควนขนุน ส่วนอีกสองอำเภอ คือ อ.ป่าพะยอม และ อ.ศรีนครินทร์ ยังไม่พบยอดผู้ติดเชื้อในรอบนี้

ซึ่งหลังจากการประชุมแล้วเสร็จ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพัทลุง มีมติให้จังหวัดประกาศล็อคดาวน์พื้นที่ในระดับตำบล ชุมชน ที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเกิน 10 ราย หรือพื้นที่ ที่มีการระบาดของเชื้อเป็นลักษณะกลุ่มก้อน ให้พื้นที่ดังกล่าวประกาศล็อคดาวน์ทันที โดยห้ามเข้า-ออก อย่างเด็ดขาดอย่างต่ำจำนวน 14 วัน
ทางด้านนายแพทย์จรุง บุญกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพัทลุง เปิดเผยว่าขณะนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุดคืออำเภอเมืองพัทลุง และมีกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยแต่ละรายไม่ต่ำกว่า 20 คน ดังนั้นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่เข้าติดต่อตรวจหาเชื้อและเป็นผู้ป่วย กรุณาอย่าปกปิดข้อมูล ซึ่งจะทำให้บุคลากร เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล เสี่ยงต่อการรับเชื้อและเกิดภาวะขาดแคลนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
และสำหรับยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่ละวัน ทำให้เตียงผู้ป่วยแต่ละโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ต้องส่งตัวผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงไปเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลสนาม ที่สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนาม จำนวน 20 ราย หายกลับบ้านพร้อมไปกักตัวต่ออีก 14 วัน จำนวน 2 ราย.